สานพลังประชารัฐ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) : E2 ประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน รวมทั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม E2 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ศ.(คลินิก) นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญในการทำงาน “สานพลังประชารัฐ” รวมทั้ง E2 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ จึงได้เชิญภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมาร่วมประชุมในครั้งนี้ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานภาครัฐและเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังแนวทางการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเสนอแนะ และแนวทางการขับเคลื่อนจากภาคเอกชน

การประชุมครั้งนี้ ได้หารือถึงผลการดำเนินงานของปี พ.ศ.2559–2560 ในด้านต่าง ๆ เช่น การ Re-Branding “อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการใช้ทั้งสื่อหลัก (Mass Media) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งภาคเอกชนได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการสร้างการรับรู้ Excellent Model School ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ เป็นต้น รวมถึงรับทราบการจัดพิธีลงนาม MOU Excellent Model School ร่วมกับ 68 วิทยาลัย และ 14 สถานประกอบการ รวมทั้งการจัด Roadshow ผ่านตัวแทน 6 พื้นที่ ที่กรุงเทพฯ, สระบุรี, ชลบุรี, ลำปาง, ขอนแก่น และสงขลา

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ จากการเก็บข้อมูลนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาทั่วประเทศกว่า 120,000 คน พบว่าสาขาวิชา “ช่างอุตสาหกรรม” ยังไม่เพียงพอต่อตลาดงาน ในขณะที่สาขาวิชา “พาณิชยกรรม” ผลิตออกมาเกินความต้องการ

ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ

     1) การพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษา (Excellent Model School) ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ต่อยอดจากโครงการเดิมที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของจำนวนสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งหมด 908 แห่ง หรือเพิ่มจากเดิม 68 วิทยาลัย เป็น 90 วิทยาลัย
     2) การจัดตั้งคณะกรรมการสภาส่งเสริมการศึกษาระบบทวิภาคี  เพื่อต้องการให้ 3 สภาของภาคอุตสาหกรรม คือ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาท่องเที่ยวฯ เข้าไปมีบทบาทหลัก และทำงานร่วมกับภาครัฐในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา ให้ได้มาตรฐานสากลเหมือนในกลุ่มประเทศในยุโรป และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอประเด็นปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน 5 ข้อ คือ

1) การติดตามการดำเนินงานจากหัวหน้าทีมภาครัฐและหัวหน้าทีมภาคเอกชน ให้เกิดความต่อเนื่อง

2) การมอบหมายผู้รับผิดชอบ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ (Authority) ที่ชัดเจน เพื่อสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง

3) งบประมาณในการดำเนินโครงการ เช่น จัดให้มีเงินทุนตั้งต้นสำหรับสภาส่งเสริมการศึกษาระบบทวิภาคี งบประมาณพัฒนาครูอาชีวะ เป็นต้น

4) การลงนามต่อระยะเวลา MOU ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มกราคม 2561 เพื่อดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

5) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้ง “สภาส่งเสริมการศึกษาระบบทวิภาคี” ซึ่งอาจผลักดันผ่านประกาศหรือคำสั่ง คสช. (ม.44) เพื่อผลักดันการพัฒนาอาชีวศึกษาไปสู่ Thailand 4.0 โดยผ่านสภาส่งเสริมการศึกษาระบบทวิภาคี

ทั้งนี้ นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า ศธ.รับความเห็นและประเด็นความต้องการ 5 ข้อ ไปพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สอศ. ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่อง และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 16.00-18.00 น. ที่ห้องประชุม ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะจัดให้มีการประชุมหารือคณะทำงาน E2 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


อรอนงค์ พุ่มศรีเพ็ชร์: สรุป
ธเนศ งานสถิร: ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง/กราฟิก
11/2/2561