สามัคคีสัมพันธ์ สานฝันห้องเรียนกีฬา

จังหวัดนครนายก – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “สามัคคีสัมพันธ์ สานฝันห้องเรียนกีฬา” เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท โดยมีนักเรียน 2 โครงการ จากโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการห้องเรียนกีฬา เข้าร่วมจำนวน 1,497 คน และได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมในพิธีเปิด โดยนายพีรพล เอื้ออารียกูล (แชมป์) พิธีกรรายการกีฬาชื่อดัง ได้ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในโครงการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวในพิธีเปิดว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ มีความภาคภูมิใจอย่างที่สุดที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ถือเป็นความประทับใจที่ดีงามและน่าจดจำ ที่ได้มาพบกับนักเรียนจากโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการห้องเรียนกีฬา จึงใช้โอกาสนี้สร้างการรับรู้ความเข้าใจในการนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล

“โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาที่มีดำริให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณานำการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ในโปรแกรมวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา ที่จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านกีฬาให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความสามารถด้านกีฬาควบคู่กับวิชาการในแผนการเรียนดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ แล้วจึงขยายผลโครงการไปสู่อำเภออื่น ๆ เพิ่มเติมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 8 โรงเรียน นักเรียน 900 กว่าคน โดยนักเรียนชั้น ม.6 รุ่นแรก จำนวน 91 คน กำลังจะจบการศึกษาในภาคเรียนหน้า ซึ่งนักเรียนเหล่านี้สามารถเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาด้วยทุนรัฐบาลได้อีกด้วย

เมื่อนำความสำเร็จของโครงการสานฝันฯ รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จึงได้เกิดเป็น  “โครงการห้องเรียนกีฬา” ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนที่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาการค่อนข้างดี มีทักษะความสามารถด้านกีฬา และมีรูปร่างสูงร่างกายแข็งแรง เพื่อวางแผนการผลิตนักกีฬาในระดับชาติเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลได้อย่างไม่เสียเปรียบในเรื่องของรูปร่างและทักษะความสามารถ  โดยเริ่มต้นโครงการห้องเรียนกีฬา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไปใน 4 จังหวัด ที่จังหวัดสุโขทัย มหาสารคาม กระบี่ และภาคเรียนถัดไปที่สมุทรสาคร โดยความร่วมมือของสถาบันการพลศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อเสริมสร้างวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการ

เมื่อดำเนินการโครงการห้องเรียนกีฬาจนมีความก้าวหน้าที่มีคุณภาพไปได้ 1 ปี  สพฐ.ได้มีการสำรวจความต้องการของประชาชน และเสนอให้มีการขยายเพิ่มเติมเพื่อให้ทั่วถึงในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย จึงได้ขยายผลการดำเนินงานโครงการห้องเรียนกีฬาเพิ่มเติมไปอีก 4 จังหวัด 5 โรงเรียน ที่จังหวัดชัยภูมิ (ซึ่งมีประเภทกีฬาบาสเก็ตบอลเพิ่มเติมด้วย) อุดรธานี เพชรบูรณ์ และชุมพร  ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว

ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนกีฬา เป็นนักเรียนทุนการศึกษาของรัฐบาล และนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้โควต้าที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติตามความสมัครใจ ถือเป็นความตกลงการทำงานร่วมกันของรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โครงการทั้งสองได้สอนให้นักเรียนทุกคนมีระเบียบวินัย มีน้ำใจ เป็นคนดี มีความรู้ และเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้กับนักเรียนทั้งสองโครงการในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มาพบปะกันและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยใช้การเล่นกีฬาซึ่งเป็นความถนัดทั้งสองประเภท รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมตามคำกล่าวที่ว่า “รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย อยู่ภาคไหน ๆ ก็ไทยด้วยกัน เชื้อสายประเพณี ไม่มีขีดขั้น อยู่ใต้ธงไทยนั้น ปวงชนทุกคนคือไทย” นั่นหมายถึงไม่ว่าเราจะมาจากที่ไหน นับถือศาสนาใด มีประเพณีใด ก็เป็นคนไทยด้วยกัน จึงขอให้นักเรียนนำสิ่งที่เป็นความดีงามของแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่น มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนแสดงให้เพื่อนที่อยู่ในภาคอื่นได้เรียนรู้ความดีงามของแต่ละภาคด้วย

สิ่งดี ๆ เหล่านี้ คือความเป็นมาของทั้งสองโครงการ คือ “โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งปัจจุบันมี 8 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ และ “โครงการห้องเรียนกีฬา” ซึ่งมี 9 โรงเรียนจาก 8 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า คนไทยทุกคนโชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสเกิดและอยู่แผ่นดินไทย “การสืบสานศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” คือความมุ่งหวังของรัฐบาล และมีความมุ่งหวังที่จะเห็นความสำเร็จความก้าวหน้าตามคำขวัญของโครงการที่ว่า “เส้นทางสู่ฝัน สรรค์สร้างแรงบันดาลใจ นักกีฬาไทยสู่สากล”

จึงได้น้อมนำพระบรมราโชวาทในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี วันที่ 28 พฤศจิกายน 2504 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเผยแพร่ให้นักเรียนในโครงการได้รับฟังโดยทั่วกัน ความว่า “…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้ รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกาย เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติ อันเป็นยอดแห่งความปรารถนา…”

นอกจากนี้ ฝากให้นักเรียนทุกคนน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ไปสู่การปฏิบัติ คือ การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม, มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี

ขอให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่ แข่งขันกีฬาอย่างสุภาพด้วยความมีน้ำใจนักกีฬา เสริมสร้างมิตรภาพและความสามัคคี และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์เช่นนี้ และขอบใจนักเรียนทุกคนที่ตั้งใจทำความดีให้เกิดขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติทั้งวันนี้และในวันข้างหน้า

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติด้วยการนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยได้จัดโครงการ “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” จำนวน 8 โรงเรียน คือ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา, โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์, โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา, โรงเรียนนาทวีวิทยาคม, โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี, โรงเรียนละงูพิทยาคม, โรงเรียนเบตง วีระราษฎร์ประสาน และโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์

รวมทั้งโครงการ “ห้องเรียนกีฬาใน 4 ภูมิภาค” จำนวน 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่, โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม, โรงเรียนสารคามพิทยาคม และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร และจะเปิดเพิ่มเติมอีก 5 โรงเรียน 4 จังหวัด ได้แก่ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ, โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์, โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนราชินูทิศ 2 จังหวัดอุดรธานี, และโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา จังหวัดชุมพร ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป

สำหรับการจัดกิจกรรมโครงการ “สามัคคีสัมพันธ์ สานฝันห้องเรียนกีฬา” ในครั้งนี้ ได้ส่งเสริมการจัดหลักสูตรบูรณาการวิชาการและการกีฬา สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถด้านกีฬาควบคู่กับวิชาการ โดยได้นำนักเรียนทั้งสองโครงการดังกล่าวจำนวน 1,497 คน มาเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2560 ที่จังหวัดนครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้พหุวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬาสร้างมิตรภาพและสร้างความสามัคคี และเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โดยมีกิจกรรม อาทิ การแข่งขันฟุตบอลและวอลเลย์บอลหญิง, การศึกษาดูงานและนิทรรศการเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา, เยี่ยมชมเขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ และโรงเรียนเตรียมทหาร, การเข้าฐานผจญภัย, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้พหุวัฒนธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดหวังว่านักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมและสร้างมิตรภาพ ความรัก ความสามัคคี ผ่านกิจกรรมกีฬาฟุตบอลและวอลเลย์บอล พร้อมทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยการใช้กีฬาเป็นสื่อในการแก้ปัญหาสังคม สร้างลักษณะนิสัยให้มีน้ำใจนักกีฬา พัฒนาความรู้และทักษะจนสามารถประกอบอาชีพได้

ภายหลังพิธีเปิด นายพีรพล เอื้ออารียกูล (แชมป์) ได้พบปะกับนักเรียนโครงการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเป็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว คอลัมนิสต์ นักร้อง ฯลฯ โดยได้ฝากให้นักเรียนให้ความสนใจภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากหากจะก้าวไปเป็นนักกีฬาชั้นนำในอนาคต

นอกจากนี้ ได้ให้ข้อคิด เช่น “โอกาสเหมือนไอติม ไม่ชิมจะละลาย” และฝาก 3 คำที่เป็นพลัง ก่อนจะทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเล่นกีฬาหรือเรื่องใด ๆ คือ “เดี๋ยว ก็ จบ” เพื่อให้น้อง ๆ มีความกล้า ตัดสินใจที่จะทำ โดยพยายามทำตัวให้แตกต่าง ไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตาม รวมทั้งฝากเรื่องการวางตัว การดูแลตนเอง บุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก และอย่าใช้มือถือเยอะเกินไป เพราะจะเป็นการรบกวนสมาธิในการเรียนและการเล่นกีฬา และยังย้ำตอนท้ายด้วยว่า “เวลามีความสุขอย่าเซ็นสัญญา เวลาโมโหอย่าเขียนจดหมาย”


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, ปรียาพร โพธิรินทร์: ถ่ายภาพ
6/10/2560