สิ่งประดิษฐ์อาชีวะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

20 กันยายน 2561 – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม” ภาคใต้ชายแดน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคยะลา จังหวัดยะลา

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงการจัดงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคใต้ชายแดน ในครั้งนี้ว่า เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่ง สอศ.ได้ร่วมกับศึกษาธิการภาค ดำเนินการมาแล้วจำนวน 5 ภาค ดังนี้

ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 8 – 9 เมษายน 2561 มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และมูลค่าซื้อขายสิ่งประดิษฐ์ต่อเนื่อง 100,000,000 บาท คือ ชุดอุปกรณ์เซฟตี้สินค้า

ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2561 มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 812,879 บาท

ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ภาคกลาง ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี ระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2561 มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 400,000 บาท และมูลค่าซื้อขายสิ่งประดิษฐ์ต่อเนื่อง 28,490,000 บาท คือ เรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อน 19,000,000 บาท, เรือเก็บผักตบชวาแบบสายพานลำเลียง 9,000,000 บาท, เครื่องล้างหัวฉีดคอมมอนเรล 450,000 บาท, เครื่องเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ 40,000 บาท

ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ภาคเหนือ ณ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน อำเภอเมืองลำพูน ระหว่างวันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2561 มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 228,815 บาท

ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่ภาคใต้ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2561 มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 1,206,000 บาท

สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ภาคใต้ชายแดน ระหว่างวันที่ 19 – 20 กันยายน 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคยะลา จังหวัดยะลา มีการจับคู่ธุรกิจเช่นเดียวกับทุกภาคที่ผ่านมา โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วม 30 แห่ง สถานศึกษาเข้าร่วม 15 แห่ง จำนวนผลงานที่จัดแสดง 67 ผลงาน มีการจับคู่ธุรกิจจำนวน 30 คู่ ผลงานซื้อขาย จำนวน 11 ผลงาน มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)

การเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษา จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ 67 ผลงานนั้น ดำเนินการใน 4 รูปแบบ ดังนี้ 1) เจรจาเพื่อซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ 11 ผลงาน 2) แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมแล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์ 3 ผลงาน 3) ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษา ในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป 3 ผลงาน 4) ให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อดำเนินการทางธุรกิจต่อไป 15 ผลงาน

สำหรับการจัดงานที่ภาคใต้ชายแดน นอกจากมีนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ภาคใต้ชายแดน จำนวน 67 ผลงานแล้ว ยังมีนิทรรศการความก้าวหน้าของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา, นิทรรศการ “Open House”, ผลงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), พร้อมทั้งมีการชี้แจงนโยบายสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา มีการเจรจาความร่วมมือจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ภาคใต้ชายแดน โดยกิจกรรมในพิธีเปิดมีผู้เข้าร่วมจำนวน  1,000 คน ประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษาภาครัฐและเอกชน สหกรณ์การเกษตร 800 คน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรอาชีวศึกษา 100 คน ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค 50 คน และผู้บริหารสถานประกอบการ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม 50 คน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีของการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนงานด้านอาชีวศึกษาตามกลไกประชารัฐ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติ และเกิดการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและความสามารถในการแข่งขันในมิติเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน การเกษตร การท่องเที่ยว การพาณิชยกรรม เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศสู่ THAILAND 4.0 อีกทั้งยังสอดคล้องกับด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาชีวศึกษาซึ่งมีหน้าที่ประสานการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ใน 6 ภาคของไทย ซึ่งถือว่าทุกภาคมีความสำคัญและเชื่อมโยงสู่การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน

“สำหรับการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 6 ครั้ง 6 ภาค ได้มีการลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมทั้งการเจรจาซื้อขายผลงานของสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 625 แห่ง มีการจับคู่ธุรกิจรวมทั้งสิ้น 604 คู่ ผลงานซื้อขายรวมทั้งสิ้นจำนวน 227 ผลงาน มีมูลค่าการซื้อขายไม่น้อยกว่า 139,654,694 บาท”

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวด้วยว่า งานของกระทรวงศึกษาธิการด้านอาชีวศึกษาจึงถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงปริมาณที่ดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ และในเชิงคุณภาพที่มีการพัฒนางานให้ก้าวหน้าในหลายส่วน โดยมีงานสำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน เช่น

  • การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความสำเร็จในการจัดระบบงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อผลิตกำลังคนและขับเคลื่อนแผนงาน สอดคล้องรองรับกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ควบคู่กับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งขยายไปสู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีกระบวนการทำงานศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เริ่มจากการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคน ทั้งในส่วนของผู้ผลิตคือ สถาบันอาชีวศึกษา และผู้ใช้ ทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ตลอดจนภาคเอกชน พร้อมพัฒนาสมรรถนะนักเรียนนักศึกษาและประชาชน (หลักสูตรระยะสั้น) ให้มีสมรรถนะทักษะเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพหรือฝีมือแรงงาน ที่ตรงกับสาขาความต้องการ และมีมาตรฐานที่เอกชนจะรับเข้าทำงาน ช่วยเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและมีรายได้ ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ

  • ความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ทั้งความร่วมมือในประเทศ ที่มีความเชื่อมโยงการทำงานแต่ละภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่ง “การศึกษาทวิภาคี” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยสถานประกอบการเป็นสถานที่ฝึกฝนผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งเป็นครูสอนถ่ายทอดวิชาและเทคนิคต่าง ๆ ด้วย ทำให้เด็กมีรายได้ และเมื่อจบการศึกษา มีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานด้วย

  • งานวิจัยและพัฒนา ที่เกิดจากการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งจัดครบถ้วนแล้วจำนวน 6 ครั้งใน 6 ภาค มีงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และมีข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่ช่วยพัฒนาเชิงวิชาการ ถือว่านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์อาชีวะมีคุณค่าสูง เนื่องจากผ่านการประกวดและได้รับรางวัล ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ ตลอดจนมีการรับรองมาตรฐานด้วย จึงควรที่จะส่งเสริมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้คิดค้นขึ้น เพื่อเป็นการทบทวนอดีตและพัฒนาปัจจุบัน เพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ต่อไปในอนาคต

“ในส่วนของภาคใต้ชายแดน เมื่อพิจารณาสถิติการดำเนินงาน ถือว่ามีความเป็นรูปธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในปี 2561 มีการจับคู่ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ สหกรณ์ต่าง ๆ กับสถาบันอาชีวศึกษา ที่นอกจากจะช่วยพัฒนางานและวิชาการแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับสถานศึกษา มีมูลค่าสูงที่สุดถึงหลักร้อยล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่น่าภาคภูมิใจมาก”

ทั้งหมดนี้ เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันในการทำงานด้านอาชีวศึกษา และได้รายงานให้รัฐบาลตลอดจนคณะรัฐมนตรีรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ชุมชน พื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ได้กำลังคนอาชีวะที่มีคุณภาพและร่วมกันพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลต่อไป



Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน, ปกรณ์ เรืองยิ่ง (VDO)
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร