ส่งเสริมสถาบันศึกษาปอเนาะ

การประชุมการบูรณาการการศึกษา
และส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี




จังหวัดปัตตานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายในพิธีปิดการประชุมการบูรณาการการศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมกองพลทหารราบที่ 15 อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)



การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 500 คน คือ นายอดินันท์ ปากบารา ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, หัวหน้าส่วนราชการที่มาจากส่วนกลาง, หัวหน้าส่วนราชการที่มีสำนักงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, วัฒนธรรมจังหวัด, ผู้แทนจาก กอ.รมน., ผู้แทน ศอ.บต., ผู้ทรงคุณวุฒิ, ศึกษาธิการจังหวัด, ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชุมชน, ผู้บริหารสถานศึกษา กศน. รวมทั้งครูอาสาสมัครในสถาบันศึกษาปอเนาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมครั้งหนึ่งที่สำคัญมากที่มีผู้เข้าร่วมประชุมมาจากหลายหน่วยงาน ในการร่วมกันระดมกำลังสมองคิดและกำหนดแนวทางในการบูรณาการการศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560


ทั้งนี้ ขอชี้แจงเพิ่มเติมให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา   พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้ให้นโยบาย (ที่นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัย) สำหรับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ การศึกษา, การสาธารณสุข, การมีงานทำ, และการมีส่วนร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม


เป็นที่ทราบกันดีว่า สถาบันศึกษาปอเนาะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชุมชนในพื้นที่ เปรียบเสมือน “หัวใจของสังคมชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้แก่ชุมชนในด้านศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ใช้ในการปลูกฝังประเพณีและวัฒนธรรมประจำถิ่นอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมโอกาสในการศึกษาให้แก่ผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ให้หลักสูตรมีคุณภาพ ทั้งทางด้านวิชาศาสนา วิชาสามัญ วิชาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต


การจัดการประชุมในครั้งนี้ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มภารกิจงานที่ 4 (งานด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม) โดยที่ประชุมหยิบเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันศึกษาปอเนาะมาเป็นแกนกลางในการร่วมกันระดมความคิด


จากการติดตามความคืบหน้าของการประชุม เลขาธิการ กศน. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนและบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วยการเชื่อมโยง การประสานงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเสริมสร้างความร่วมมือ และการเสริมสร้างการรับรู้ร่วมกัน ในการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะใน 4 ด้าน คือ


1) ด้านกายภาพ ได้แก่ อาคารเรียน เครื่องมือและการสื่อสาร ที่พักอาศัย ภูมิทัศน์ และระบบสุขาภิบาล


2) ด้านวิชาการ (กระบวนการเรียนรู้) ได้แก่ หลักสูตร การผลิตและการพัฒนาครู การพัฒนาผู้เรียน สื่อการเรียน และอุปกรณ์


3) ด้านคุณภาพชีวิต ได้แก่ การพัฒนาทักษะชีวิต การมีจิตอาสา และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม


4) ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การพัฒนาระบบสารสนเทศ หน่วยงาน การประสาน การให้บริการ และการอุดหนุน


ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยในขั้นต้น และได้ร่วมกันเสนอแนวทางในการดำเนินการในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งต้องร่วมกันวางแผน พัฒนา ติดตาม และประเมินผลต่อไป จึงขอให้ทุกท่านได้รับเอาคำแนะนำต่าง ๆ และข้อมูลที่สำคัญไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแน่นแฟ้นและต่อเนื่อง จนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่นำไปสู่สังคมสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะให้สูงขึ้น จึงขอให้หน่วยงานทุกสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการนำจุดเน้นในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 7 จุดเน้น คือ การรักษาความปลอดภัย, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การสร้างเสริมโอกาสทางการศึกษา,  การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการมีงานทำ, การศึกษาเพื่อความมั่นคง,  การสร้างการรับรู้, การบริหารจัดการ ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะมีศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต. หรือเรียกโดยย่อว่า “ศูนย์ใต้”) เป็นผู้ประสานงานหลักแทนกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ในพื้นที่



ในฐานะของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักของกลุ่มภารกิจงานที่ 4 ของการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบงานด้านพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประสานงานทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันศึกษาปอเนาะผ่านทางหน่วยงานของสำนักงาน กศน. ในพื้นที่ เนื่องจากต้องการให้อย่างน้อยมี 1 ครู กศน. รับผิดชอบในการประสานงาน ช่วยเหลือและกำกับดูแล 1 สถาบันศึกษาปอเนาะ, สำหรับงานด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม สามารถจัดกิจกรรมโดยตรงกับสถาบันศึกษาปอเนาะ หรืออาศัยผ่านทางศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 4 ศูนย์ของ กศน. คือ ศูนย์การเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่, ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล, ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต








 

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางในการบูรณาการการศึกษา และส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ดังนี้


กลยุทธ์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง


1. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะ


2. สร้างและขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา


3. เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการศึกษา


4. การสร้างเครือข่ายของสถานศึกษาของรัฐกับสถาบันศึกษาปอเนาะ


5. ส่งเสริมและสนับสนุน ระบบนิเทศ ประเมิน และเฝ้าระวังคุณภาพการศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะ


6. เร่งรัดพัฒนาคุณภาพครู บุคลากรทางการศึกษา โต๊ะครู ผู้ช่วยโต๊ะครู และการจัดการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะให้มีมาตรฐานเทียบเท่าพื้นที่อื่น


7. พัฒนาการจัดการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาให้มีคุณภาพ และถูกต้องสอดคล้องตามหลักการศาสนา


8. เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะ


9. สร้างโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการสอนเสริมในสาขาวิชาที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ในระดับการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนการจัดระบบเทียบโอนและรับรองคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งใบประกอบวิชาชีพ และส่งเสริมให้มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่


10. สนับสนุนและส่งเสริมสถาบันศึกษาปอเนาะให้มีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการทำนุบำรุงศาสนา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาจริยธรรมละแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา รวมทั้งส่งเสริมและฟื้นฟูกิจการด้านศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น


11. ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสานอัตลักษณ์และกิจกรรมทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่


12. ส่งเสริม สนับสนุน การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


ผลลัพธ์ที่ต้องการ


1. ผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกระบบการศึกษา


2. การจัดการศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวนโยบายที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพการศึกษา


3. ประชาชนในพื้นที่ จชต.ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันบนความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม


ตัวชี้วัดในการดำเนินงาน


1. ผลสัมฤทธิ์ในการใช้ภาษาไทยของผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ


2. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา I-NET และ O-NET ตามสาระกลุ่มวิชาของผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ


3. ร้อยละของผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะที่สำเร็จการศึกษาในช่วงชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่สามารถเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับสูงขึ้น


4. จำนวนผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะที่ได้รับทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ


5. ร้อยละของสถาบันศึกษาปอเนาะที่สามารถเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐ


6. ร้อยละของสถาบันศึกษาปอเนาะที่มีการจัดกิจกรรมร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง


7. ระดับความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ฯ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนของสถาบันศึกษาปอเนาะในพื้นที่ฯ รวมทั้งการฟื้นฟูส่งเสริมศาสนา และศิลปวัฒนธรรม


เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามต้องการและเป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

 




โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณสำนักงาน กศน. ที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุม และขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้ท่านทั้งหลายมีกำลังกายที่เข้มแข็ง มีกำลังใจเต็มเปี่ยม มีกำลังสติปัญญาที่เป็นเลิศ ร่วมมือ ร่วมใจ รักและสามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และขอปิดการประชุมการบูรณาการการศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รวมทั้งอวยพรให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ



บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
8/12/2559