หลักคุณธรรมพระราชทาน 4 ประการ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง ‘มุมมองการบริหารและประสบการณ์ของผู้บริหาร’ ในการอบรมหลักสูตรผู้อำนวยการระดับสูง รุ่นที่ 1 ของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2560 ณ ห้อง 602 (ชั้น 6) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก


 


● ยกตัวอย่างผู้บริหารที่ดีที่สามารถยึดเป็นแบบอย่างได้


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดเวลาที่รับราชการมากว่า 37 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ ได้พบเห็นผู้บริหารและข้าราชการที่ดี มีธรรมาภิบาล มีความงดงามจำนวนมาก หลายคนเป็นตัวอย่างให้เราได้เรียนรู้ว่าการเป็นผู้นำที่ดี ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มุ่งมั่นที่จะบริหารกิจการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยความขยันหมั่นเพียร  ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่หลงในอำนาจวาสนา ใช้อำนาจในทางที่ผิด


อาทิ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชา, ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่งดงามทุกจริยวัตร มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ผู้คนต่างต้องการทำงานให้กับท่านเพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศชาติมีความรุ่งเรือง หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่รักของข้าราชการและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการดำรงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย การพูดการใช้วาจา แม้แต่การดุของท่านคือ ไม่พูด และไม่เคยพูดจาหยาบคาย ไม่เคยชี้หน้าสั่งผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า แต่กลับคอยให้คำชี้แนะและสอนสั่งข้าราชการเสมือนดังเป็นพ่อแม่ ด้วยความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง เป็นต้น


● ผู้บริหารควรเป็นผู้นำองค์กรที่ดี และหลักชัยให้สังคม


ในด้านการเป็นผู้นำหรือหัวหน้าองค์กรนั้น ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ผู้บริหารนอกจากจะเป็นผู้นำองค์กรแล้ว จะต้องเป็นหลักชัยให้กับสังคม ต้องเป็นต้นแบบให้แก่สมาชิกในองค์กรอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีระบบที่เป็นระเบียบแบบแผน ความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่สุดโต่งทางความคิด ที่สำคัญคือ “ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่” เป็นของควบคู่กัน ไม่ใช่ใช้อำนาจจนเกินเลยความรับผิดชอบที่ทำให้ระบบเสียหาย เกิดความชะงักงัน เดินหน้าต่อไปไม่ได้


แนะให้ผู้บริหารมีคุณธรรมจริยธรรม และเป็น Idol ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา


ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ระบบคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น คือ คำตอบขององค์กรและสังคม สมาชิกในองค์กรต้องเป็นแบบอย่าง (Role Model) แก่กัน โดยหยิบยกสุภาษิต “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก” ความว่า หากหัวดำรงความเที่ยงธรรม สุจริตธรรม ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล เป็นแบบอย่างที่ดี มีหรือที่หางจะออกนอกกรอบ


ังนั้น เราทุกคนจึงควรมีต้นแบบ (Model) ที่ยั่งยืน เปรียบเสมือนใครต่อใครในประเทศต่างยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เป็นต้นแบบที่ยั่งยืนที่สุด อันส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงนำสมเด็จย่าเป็นต้นแบบปฏิบัติ จนทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รัก ที่คิดถึง ที่หวงแหนอย่างสุดพรรณนาของคนไทยทั้งประเทศ


ฝากคุณธรรมพระราชทาน 4 ประการ ซึ่งในหลวงได้ทรงเน้นย้ำโดยตลอดรัชสมัย


ม.ล.ปนัดดา กล่าวฝากผู้เข้าอบรมด้วยว่า ขอให้ยึดหลักคุณธรรม 4 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเน้นย้ำเป็นพิเศษโดยตลอดรัชสมัย และข้าราชการทุกหมู่เหล่าควรได้น้อมนำสู่การปฏิบัติ มีอยู่ 4 ประการสำคัญ คือ




  • ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ รวมทั้งต่อผู้อื่น มุ่งมั่นปฏิบัติสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขและเป็นธรรม



  • ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งความสัจความดีนั้น



  • ประการที่สาม คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใดก็ตาม



  • ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง


คุณธรรมทั้ง 4 ประการดังกล่าวนี้ หากแต่ละคนทุกผู้ทุกฝ่ายพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว ย่อมจะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความเจริญ มีความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคง ก้าวหน้าต่อไปได้ดั่งประสงค์คุณธรรมพระราชทาน 4 ประการดังกล่าว



ังนั้น อยากแลเห็นเรื่องคุณธรรม เป็นวาระสำคัญของการขับเคลื่อนสถานศึกษา ส่วนราชการ องค์กร และการปฏิรูประบบราชการของทุกภาคส่วนสู่ความสำเร็จบริบูรณ์ เป็นสังคมคุณธรรม ประเทศไทยคุณธรรมสืบไป



อิทธิพล รุ่งก่อน, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
17/5/2560