หลักสูตรการท่องเที่ยว

หมออุดม ชูการเรียนรู้ท่องเที่ยวไทย “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ตามอัตลักษณ์ชาติ” จับมือผู้ปกก.วางเป้าหมายการผลิตคน ชี้มหาวิทยาลัยช่วยวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “ยกระดับศักยภาพการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและรองรับประเทศไทย 4.0” เมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานพิธีเปิด และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาระบบการเรียนการสอนรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” โดยมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เข้าร่วมงานกว่า 150 คน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กก. กล่าวว่า การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของการดำเนินงานระหว่าง กก. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันการท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนและเป็นรายได้หลักของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับใดสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ (Tourism for All) และหากได้บัณฑิตที่จบการศึกษาด้านการท่องเที่ยวโดยตรงมาช่วยกันพัฒนางานบริการต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าให้การท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การท่องเที่ยวของโลกกำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน และไทยเราก็เป็นอีกประเทศที่การท่องเที่ยวเจริญเติบโตมากที่สุด โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้น สถาบันการศึกษาในฐานะผู้ผลิตกำลังคน นอกจากผลิตกำลังคนด้านการท่องเที่ยวแล้ว ก็สามารถร่วมมือผู้ใช้บัณฑิต คือภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการผลิตกำลังคน พร้อม ๆ กับทำการวิจัยเพื่อพัฒนาตลอดจนสร้างคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบท่องเที่ยวตามแนวโน้มของผู้รับบริการ หรือ “นักท่องเที่ยว” ในอนาคต

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม และสาขาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ประมาณ 14,000 คน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว โดยมีแนวทางที่จะยกระดับศักยภาพการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการปรับหลักสูตร เปลี่ยนเนื้อหา และพัฒนาผู้สอน รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ตามอัตลักษณ์ของความเป็นไทย” ด้วย

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาควรพัฒนา Value Chain ของการท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก, นักท่องเที่ยว, การบริการที่เข้มข้นด้วยองค์ความรู้ (Knowledge-intensive Service), การพัฒนาบุคลากรที่มีมาตรฐานสากล ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้

อีกทั้ง ควรให้ความสำคัญกับ “การท่องเที่ยวเมืองรอง” ที่มีของดีอยู่แล้ว ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อชูแหล่งท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเป็นจุดเด่น ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งพิงด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานพื้นที่ใกล้เคียง (Area-based Approach) พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อแลกเปลี่ยนเนื้อหาและหลักสูตรร่วมกัน

ในส่วนของการผลิตบัณฑิต สถาบันการศึกษาควรวางเป้าหมายร่วมกับผู้ใช้บัณฑิตแต่แรก ไม่ว่าจะเป็น บุคลิกลักษณะ จำนวน สาขาวิชา การมีทักษะหลายอย่าง (Multiskill) เป็นต้น ตลอดจนรองรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ อาทิ คนวัยทำงาน ผู้สูงวัย ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นทักษะ (Reskill) และ พัฒนาทักษะสูงให้ขึ้น (Upskill) นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาก็ต้องยกระดับของตนเองให้มีศักยภาพ ปรับกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่จะสร้างการแข่งขัน และสนองความต้องการของตลาดได้ด้วยเช่นกัน

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
7/2/2561