หลักสูตรมหาวิทยาลัย
รัฐบาล-ศธ.มีนโยบายชัด “เด็กจบแล้วมีงานทำ ตรงความต้องการประเทศ” เป็นหน้าที่มหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยข้อมูลหลักสูตรให้ผู้เรียนได้รับรู้
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเผยแพร่รายชื่อ 182 หลักสูตร ซึ่งไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร จากการประเมินการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวม 40 แห่ง ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (www.mua.go.th) ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจะเปิดหลักสูตรหรือการอนุญาตให้เปิดหลักสูตรใด ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย กกอ.เพียงแต่ทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ในการกำกับมาตรฐานอุดมศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน หลักสูตร และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของอุดมศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องดำเนินการประกันคุณภาพการจัดการศึกษา และรายงานต่อ กกอ.ทราบทุกปี ซึ่งการที่ กกอ.มีมติให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสู่สาธารณะ ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540
จึงขอให้เข้าใจด้วยว่า สกอ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กกอ. ไม่ได้ต้องการจะรุกล้ำมหาวิทยาลัย เพราะถึงอย่างไรมหาวิทยาลัยก็ต้องมีอิสระทางวิชาการและการทำงาน แต่การเปิดเผยหลักสูตรดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมติของ กกอ. ที่ต้องการจะดูแลการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเป็นไปตามเกณฑ์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเองก็ต้องรักษามาตรฐานด้วยเช่นกัน เสมือนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะต้องดูแลนักศึกษาเป็นหลัก และเมื่อรายงานผลการดำเนินงานแล้ว ก็ต้องมีการปรับปรุงเพื่อรักษามาตรฐานของตนไว้ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนด้านอุดมศึกษา เพราะหากเด็กจบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็ถือเป็นการสูญเสียงบประมาณเช่นกัน
นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ยังได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินตามนโยบายรัฐบาล คือ “เด็กเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ” พร้อมกับจะมีการปรับปรุงหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อผลิตคนตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของประเทศมากขึ้น ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับรู้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยมากเพียงพอ สำหรับการตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยใด
ส่วนมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระ และกำกับดูแลโดยสภามหาวิทยาลัยเอง สกอ.จึงไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งการอยู่แล้ว แต่การที่ สกอ.ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็เพื่อให้มีการปรับปรุงและเป็นหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยต้องแก้ไข อาทิ หากครูอาจารย์ไม่พอ ก็ต้องดำเนินการให้มีมากเพียงพอ สิ่งสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. ต้องการให้เด็กและผู้เรียนรู้ข้อมูล รู้ว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร หาก กกอ.ไม่ทำหน้าที่นี้ แล้วใครจะเป็นคนบอกเด็ก
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
18/1/2561