ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูปหลักสูตร : ทิศทางการพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษาในอนาคต” ในโครงการพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดย ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรเข้าร่วมงาน
สำหรับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยนครปฐม ให้ตรงกับโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้น เห็นว่าสามารถปรับตัวได้ทันต่อพฤติกรรมผู้เรียนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคน Generation Z โดยขอให้ทวงคืนความเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบผลิต “ครู” ที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคนี้ ดังเช่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะคำว่า “ครู” หรือที่ในมหาวิทยาลัยเรียกว่า “อาจารย์” นั้น มีส่วนสำคัญต่อการนำนโยบายและแผนงานด้านอุดมศึกษาสู่การปฏิบัติ ก็คือการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา โดยควรเน้นหลักสูตรที่จะสร้างผลกระทบให้กับผู้เรียนมากกว่าผลการเรียน พร้อมสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ในลักษณะ Module และสื่อการเรียนรู้ประกอบการเรียนมากขึ้น ทั้งในลักษณะสื่อแบบออฟไลน์และสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเป็นการสร้างทักษะและสมรรถนะด้วยหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น รู้หลายศาสตร์ ตลอดจนสั่งสมการเรียนรู้และประสบการณ์จากข้อเท็จจริง การทำงานจริงในสถานที่จริง มิใช่เพียงการนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น พร้อม ๆ กับการปรับบทบาทการเป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิตสำหรับคนทุกช่วงวัย” อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการที่จะขอฝากไว้คือ การคำนึงถึงแนวโน้ม (Trend) ของอาชีพในโลกยุคใหม่ ที่ครูอาจารย์จะต้องตระหนักรู้ ตลอดจนศึกษาค้นคว้าตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลในการสร้าง Module ตอบโจทย์การมีงานทำและสามารถแข่งขันได้ของกำลังคนระดับบัณฑิตศึกษาในอนาคต ทั้งการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มฐานความรู้แก่สินค้าและนวัตกรรมต่าง ๆ, การแทนที่คนด้วย Automation และ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่คนและงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ถึง 72% ในหลากหลายสาขาอาชีพ
ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวถึงโครงการพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ด้านการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวโน้มทิศทางการปฏิรูปหลักสูตร ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักสูตรให้กับอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก บูรณาการในห้องเรียนและนอกห้องเรียนจากการปฏิบัติจริง
Photo Credit
Editor