หารือกับกระทรวงอุดมศึกษา อัฟกานิสถาน
เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการอุดมศึกษากับ MR. Abdul Tawab Balakarzai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา (ฝ่ายวิชาการ) อัฟกานิสถาน ที่ห้องประชุม MOC อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศึกษาการ กล่าวว่า เมื่อ 16 ปีที่แล้วประเทศไทยเคยมีทบวงมหาวิทยาลัยที่ดูแลสถาบันอุดมศึกษาทั้งประเทศ จากนั้นได้เกิดการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ แต่เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าการรวมกันนั้นทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการมีขนาดใหญ่มาก กระทรวงศึกษาธิการจึงเตรียมที่จะจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา โดยแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561 นี้
ส่วนความร่วมมือระหว่างอัฟกานิสถานกับมหาวิทยาลัยมหิดลก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี อีกทั้งมีประวัติการดำเนินงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน ความร่วมมือนี้ถือเป็นโอกาสดี ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
นอกจากนี้ การเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีอินเทอร์เน็ตช่วยเปิดโลก และทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรปรับตัวจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น โดยการสนับสนุนของ สกอ. ทั้งการจัดสรรงบประมาณและส่งเสริมการขยายผลหลักสูตรออนไลน์ไปทั่วประเทศด้วย
ทั้งนี้ หวังว่าการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ จะทำให้กระทรวงศึกษาธิการไทยและกระทรวงการอุดมศึกษาอัฟกานิสถาน ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทั้งสองประเทศได้
MR. Abdul Tawab Balakarzai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา (ฝ่ายวิชาการ) อัฟกานิสถาน กล่าวว่า การบริหารจัดการด้านการศึกษาของอัฟกานิสถาน ประกอบด้วย 2 หน่วยงานสำคัญ คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา ในส่วนของการอุดมศึกษานั้นอัฟกานิสถานกำลังพัฒนาสถาบันการอุดมศึกษาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยมุ่งเน้นด้านคุณภาพด้วยการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินเดีย ตุรกี อิรัก และไทย เป็นต้น รวมทั้งมีการตั้ง Professional Development Center และโปรแกรมที่เชื่อมโยงกับวิธีการสอน การวิจัยและเทคโนโลยีด้วย ตลอดจนการส่งเสริมด้าน ICT ซึ่งจะลงนาม MoU กับ MIT ที่สหรัฐอเมริกาในเดือนหน้าด้วย
สำหรับการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พร้อมทั้งลงนาม MoU ด้านการแพทย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ การให้ทุนนักศึกษาที่ได้รับทุนระดับปริญญาโท ภายใต้ทุนการศึกษา Higher Education Development Program (HEDP Scholarship) โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและสานต่อความร่วมมือที่ดีร่วมกันต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
14/2/2561