หารือกับ AUT นิวซีแลนด์
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับคณะผู้แทนจาก Auckland University of Technology (AUT) นิวซีแลนด์
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทรกล่าวว่า AUT เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของนิวซีแลนด์ และมีความร่วมมือด้านการศึกษากับ มทร.ธัญบุรี มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จึงมีความสนใจที่จะมาร่วมจัดการศึกษากับ มทร.ธัญบุรี วิทยาเขตปราจีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จึงได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ มทร.ธัญบุรี หารือในรายละเอียดกับ AUT เกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากนิวซีแลนด์ เข้ามาร่วมจัดการศึกษาในสาขาที่ไทยขาดแคลน หรือยังไม่มีความชำนาญ พร้อมเชิญชวนนักศึกษาในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาเรียนในไทยด้วย อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เป็นต้น โดยอาจจะเริ่มจัดหลักสูตรระดับปริญญาโท-เอก ตลอดจนหลักสูตรระยะสั้น หรือ Non-degree เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านด้วย
H.E. Mr Taha Macpherson กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษาที่สำคัญของไทย-นิวซีแลนด์ โดยเชื่อมั่นว่าหากดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่
Professor Nigel Hemmington กล่าวว่า AUT เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของนิวซีแลนด์ และมีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ AUT เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับความร่วมมือกับไทยนั้น ที่ผ่านมาได้ร่วมมือด้านการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับบุคลากรและนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี ซึ่งมีพื้นฐานมาจากด้านเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ AUT จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเริ่มความร่วมมือต่าง ๆ ร่วมกัน และขณะนี้เตรียมที่จะต่อยอดและขยายผลโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การให้ มทร.ธัญบุรี เป็นศูนย์สอบให้กับนักศึกษาไทยที่จะไปเรียนต่อที่ AUT, การร่วมกันจัดตั้งศูนย์การศึกษา RMUTT Innovationand Knowledge Center, การนำหลักสูตรของ AUT เข้ามาจัดการเรียนการสอน เป็นต้น นอกจากนี้ AUT ก็เห็นด้วยเกี่ยวกับความร่วมมือในการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นและการฝึกอบรมอาชีพในประเทศไทย โดยจะใช้หลักสูตรเดียวกับ AUT ที่นิวซีแลนด์
ดร.สุภัทร จำปาทอง กล่าวว่า การที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาร่วมจัดการศึกษาในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเริ่มในพื้นที่ EEC พร้อมทั้งใช้หลักสูตรและการเรียนการสอนตามมาตรฐานของสถาบันการศึกษานั้น ๆ โดย สกอ. จะได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้กับ AUT ต่อไป
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ กล่าวว่า จากการที่ มทร. ธัญบุรี ได้ดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษากับ AUT โดยได้ส่งคณาจารย์และบุคลากรไปพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่ AUT เป็นระยะเวลา 1 เดือน ในขณะเดียวกัน AUT ก็ได้ส่งผู้บริการและบุคลากรมาให้คำบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ แก่บุคลากร มทร.ธัญบุรี จึงมีแนวทางที่จะยกระดับการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน ด้วยการจัดตั้งศูนย์การศึกษาที่มีชื่อว่า RMUTT Innovation and Knowledge Center เพื่อพัฒนาบัณฑิตและบุคลากรในสาขา Business Administrations, Information Technology, Computer Science และ Internet of Things (IOT) ตลอดจนมีแนวทางที่จะเข้ามาร่วมจัดการศึกษาในสาขาต่าง ๆ กับ มทร.ธัญบุรี ด้วย