หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความสำเร็จของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความสำเร็จของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย หลังจากมีผลการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) สูงที่สุดในประเทศ พร้อมหารือแนวทางการยกระดับคะแนน PISA 2021 (พ.ศ. 2564) เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงเรียนทั่วประเทศ

 width=

 width=

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการเรียน Unplug Coding ว่าเป็นการเรียนโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยฝึกให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นในด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์ คิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็นตรรกะ คิดแบบมีเหตุมีผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับข้อสอบ PISA ที่เป็นการทดสอบสมรรถนะทักษะด้านการอ่าน และการคิดวิเคราะห์

การอ่านจะช่วยทำให้การเรียนวิชาอื่น ๆ ดีไปด้วย ต้องปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือ และถามเด็กว่าเรื่องที่อ่านเกี่ยวกับอะไร เป็นการฝึกให้เด็กอ่านและสรุปความเป็น และฝากผู้ปกครองให้ช่วยกันอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เด็กด้วย เพราะการอ่านให้เด็กฟังแล้วตั้งคำถามกับเด็กจะเป็นการฝึกให้เด็กได้ฟังเป็นและคิดตาม ซึ่งข้อสอบ PISA ก็เป็นลักษณะเดียวกัน

 width=

 width=

ขณะเดียวกันโรงเรียนควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมในด้านการอ่าน การฟังและคิดตาม ก่อนเวลากลับบ้านทุกวัน เช่น การฝึกคิดเลขในใจวันละ 15 นาที การท่องอาขยาน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง คุณธรรม วัฒนธรรม ประเพณี ในรูปแบบของการร้องเพลงแร๊พ หมอลำ เป็นต้น จะช่วยฝึกให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย สิ่งที่กล่าวมาต้องเอากลับมาในชั้นเรียนเพราะเป็นต้นทุนของประเทศไทย เพื่อช่วยให้เด็กได้ระบายความเครียดจากการเรียนทั้งวันและซึมซับความรู้ไปพร้อมกัน

“ที่มาในวันนี้มีความตั้งใจที่จะตรวจเยี่ยมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้ครบทุกแห่ง เพราะต้องการมาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอน และผลการศึกษาวิจัยถึงผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการจัดทำแผนพัฒนา และยกระดับการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศ

 width=

โดยเฉพาะนักเรียนช่วงอายุ 15 ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.3, ม.4 และ ชั้น ปวช. ปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดต่าง ๆ ที่จะต้องทำการสอบ PISA ครั้งต่อไปในปี 2021 (พ.ศ. 2564) พร้อมกันกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์โจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งส่งเสริมการทำข้อสอบแบบอัตนัย มากกว่าการทำข้อสอบแบบปรนัย ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เตรียมที่จะทำ MOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ทั่วประทศ ที่จะมาอบรมครูในสังกัด สพฐ. และโรงเรียนอื่นๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาการสอบ PISA 2021 (พ.ศ. 2564) ใน 15 เดือนข้างหน้าอีกด้วย

ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการสอบประเมิน PISA ของกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าคะแนนของกลุ่มโรงเรียนทั่วไป เนื่องจากโรงเรียนฯ มีการดำเนินการวัดประเมินผลนักเรียนทั้งในระดับการประเมินผลตามตัวชี้วัดการประเมินผลระดับกลางภาค และปลายภาค ซึ่งเป็นไปตามลักษณะข้อสอบตามแนวการประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) มาตั้งแต่ก่อตั้งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยจึงได้รับการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีคณะครูผู้สอน (ทีม PISA) ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยให้ถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผลตามแนวการสอบ PISA ให้แก่คณะครูโรงเรียนอื่น ๆ ในโรงเรียนเครือข่าย และโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการ ตลอดจนอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจแก่นักเรียนในการทำข้อสอบตามแนวการสอบ PISA ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 width=

ด้าน ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้นำเสนอการเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบ PISA 2021 ว่า PISA ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment “การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ” เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมิน “การรู้เรื่อง (Literacy)” ของนักเรียนอายุ 15 ปี ในด้านต่าง ๆ สามด้านได้แก่ ด้านการอ่าน (Reading Literacy), ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และ ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

PISA จัดโดยองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) เพื่อศึกษาว่านักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ ของประเทศที่เข้าร่วมรับการประเมินมีความรู้เรื่องด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับใด เพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ สามารถเป็นกำลังคนที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศของตนเองและของโลกโดยรวมได้เพียงใด

 width=

โครงการ PISA จัดครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 และได้ดำเนินการประเมินต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี ครั้งต่อไปคือ PISA 2021 ซึ่งจะประเมินในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 และจะประกาศผลในเดือนธันวาคม ของปีถัดไป โดยประเทศที่เข้ารับการประเมินได้แก่ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การ OECD ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสามารถสมัครเข้ารับการประเมินได้ ซึ่งประเทศไทยได้สมัครเข้ารับการประเมินตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน

นักเรียนที่จะถูกสุ่มเลือกมาสอบ PISA ในเดือนสิงหาคม 2564 คือนักเรียนที่มีอายุ 14 ปี 6 เดือน ถึง 15 ปี 6 เดือน ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 หรือเป็นนักเรียนที่เกิดระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ส่วนใหญ่จะกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 3, ม. 4 และ ชั้น ปวช. ปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดต่าง ๆ โดยการสุ่มเลือกนักเรียน PISA จะใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratify Random Sampling)

 width=

 width=

คะแนน PISA มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศมากเนื่องจากมีการนำผล PISA ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ และนำไปใช้พิจารณาความน่าลงทุน ทั้งนี้ คะแนน PISA ของนักเรียนไทยอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจทุกด้าน มีสมมติฐาน ดังนี้
1) นักเรียนไม่คุ้นเคยกับรูปแบบของการสอบ PISA
2) นักเรียนขาดทักษะในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณและมีสมาธิการอ่านต่ำ
3) กิจกรรมการเรียนการสอนงานการบ้านและแบบฝึกหัดที่ให้นักเรียนทำยังไม่ช่วยกระบวนการคิดวิเคราะห์
4) ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาระดับต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการสอบ PISA และยังไม่เคยทำข้อสอบแนว PISA มาก่อน
5) นักเรียนอาจยังไม่ตั้งใจทำข้อสอบ PISA อย่างจริงจัง

 width=

 width=

ทั้งนี้การสอบ PISA 2021 เหลือเวลาเตรียมตัวอีกเพียง 15 เดือน เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก การจะยกระดับผลการสอบ PISA ปี 2564 จะมีโอกาสเป็นไปได้ หากกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเรื่อง “การยกระดับผลการสอบ PISA ของชาติ” โดยมอบหมายให้ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ และผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กำกับดูแล ให้ทุกโรงเรียนดำเนินการตามแนวทางนโยบายอย่างจริงจังและเข้มข้นตลอดปีการศึกษา 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงปีการศึกษา 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2567 โดยให้ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญระดับสูงมาก

 width=

ณรีรัตน์ บุญหลัง: สรุป/เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
12/3/2563