ห้องเรียนดนตรี

 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขยายโครงการ “ห้องเรียนดนตรี” จากเดิม 3 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส” เพิ่มอีก 3 โรงเรียนในปีนี้ที่  “สมุทรสงคราม-กาฬสินธุ์-ลำพูน” รวมเป็น 6 โรงเรียน เพื่อมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทยผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาการได้เต็มศักยภาพ ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้มีความสามารถได้เรียนตามความสนใจและความถนัด

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2561 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานแถลงข่าวโครงการห้องเรียนดนตรี โดยกล่าวว่าการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ เป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐบาลนานาประเทศให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน สำหรับประเทศไทยได้ให้การส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในหลากหลายรูปแบบ ตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียน

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า “ศิลปะและดนตรี” เป็นวิชาที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ สามารถสร้างคนให้เป็นคนดี มีจิตใจที่อ่อนโยน และเป็นสื่อในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม

เมื่อปีการศึกษา 2560 จึงได้จัดทำโครงการ “ห้องเรียนดนตรี” ในโรงเรียนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี 2) โรงเรียนคณะราษฎรบํารุง จังหวัดยะลา 3) โรงเรียนสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านดนตรีแก่นักเรียนที่สนใจ

นอกจากนี้ ยังพบว่าในแต่ละโรงเรียนจะมีนักเรียนที่มีศักยภาพในหลากหลายสาขา สมควรที่จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ได้เรียนตามความสนใจและความถนัด เช่นเดียวกับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในสาขาอื่น ๆ จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะเปิดเรียนเป็นห้องเรียนดนตรีในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มเติมจากภาคใต้ชายแดน

และปีการศึกษานี้ จะเปิดเพิ่มอีกอีก 3 โรงเรียนใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ 1) โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม “ห้องเรียนดนตรีไทย” (ม.1 จำนวน 30 คน ม.4 จำนวน 8 คน) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ “ห้องเรียนดนตรีสากล” (ม.1 จำนวน 9 คน ม.4 จำนวน 5 คน) และโรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน “ห้องเรียนดนตรีสากล” (ม.1 จำนวน 40 คน ม.4 จำนวน 40 คน)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษดนตรี และส่งเสริมเด็กที่มีพรสวรรค์ให้ได้รับการพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้มีความสามารถได้เรียนตามความสนใจและความถนัด และสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาการกับหน่วยงานทางการศึกษา ที่จะเป็นการส่งต่อนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และมีโอกาสประกอบอาชีพในอนาคต

ทั้งนี้ได้กำหนดแผนพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี และมีเป้าหมายให้นักเรียนได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะด้านดนตรีในระดับมาตรฐานสากล สร้างบุคลากรด้านดนตรีแก่ประเทศ นำมาซึ่งรายได้ ความคิดสร้างสรรค์ และความสงบสุข นอกจากนี้ยังเตรียมแผนที่จะคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 13 โรงเรียนภายในปีการศึกษา 2562 ด้วย

“ในส่วนของการนำเสนอผลงานนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านทัศนศิลป์ ด้านดนตรี และด้านนาฏศิลป์ รุ่นที่ 1-4 จำนวน 128 คน ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมนักเรียนที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและแสดงออกซึ่งศักยภาพที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ขอขอบคุณผู้บริหารโรงเรียน คณะครู ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขา ทั้งศิลปินแห่งชาติและวิทยากร ที่ถือเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการ ให้เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ และค้นพบความชอบของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การตัดสินใจที่เลือกศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคต” พล.อ.สุทัศน์ กล่าว

น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.ได้กำหนดแผนการสนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ๆ ละ 1 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเป็น “ห้องเรียนมาตรฐาน” สำหรับการเรียนดนตรี ขนาด 8×8 เมตร จำนวน 3 ห้องเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนรายบุคคลและห้องเรียนรวม โดยขณะนี้ได้จัดทำรูปแบบรายการไว้เรียบร้อยแล้ว และจะจัดสรรงบประมาณไปยังโรงเรียนเพื่อปรับปรุงอาคารต่อไป เช่นเดียวกับงบประมาณด้านครุภัณฑ์ด้านดนตรี สพฐ.ได้เตรียมการจัดสรรงบประมาณค่าครุภัณฑ์เครื่องดนตรี ให้เพียงพอกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้ง 3 แห่งแล้ว

น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า นักเรียนในโครงการฯ จะต้องเรียนวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรแกนกลาง ส่วนการเรียนดนตรีจะกำหนดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม โดยจะมีการฝึกปฏิบัติการรวมวงและกิจกรรมนอกเวลาเรียนด้านดนตรี ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมงต่อภาคเรียน โดย สพฐ. จะจัดสรรครูอัตราจ้างที่เชี่ยวชาญเฉพาะไม่เกิน 5 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนในรายวิชาดนตรีตามหลักสูตรที่กำหนด

นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมกำหนดข้อตกลงในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนสู่ความเป็นเลิศด้านดนตรี  ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฯลฯ และได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในแต่ละภูมิภาค ในการสนับสนุนบุคลากรด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน เพื่อให้นักเรียนโครงการห้องเรียนดนตรีมีบทบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้วย.


โดยสรุป “ห้องเรียนดนตรี” ในขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 6 โรง คือ 1) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี 2) โรงเรียนคณะราษฎรบํารุง จังหวัดยะลา 3) โรงเรียนสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส 4) โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม 5) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 6) โรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน และในปีการศึกษา 2562 จะเพิ่มอีก 13 โรงเรียนครบทุกภาคทั่วประเทศ”


Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit กิตติกร แซ่หมู่, อิทธิพล รุ่งก่อน, อธิชนม์ สลางสิงห์ (VDO)
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร