เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้

นโยบายการยกระดับคุณภาพการศึกษา
ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติราชการเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้  ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2559 ที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้พร้อมใจถวายพระราชสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อแสดงให้เห็นว่าครูทุกคนมีความจงรักภักดีต่อครูแห่งแผ่นดินของเรา ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประการสำคัญคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งมากมายด้านการศึกษา โดยรัฐบาลได้เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559  ตลอดทั้งปี จึงเชิญชวนทุกท่านร่วมใจร่วมทำงาน เพื่อถวายผลการทำงานด้านการศึกษาที่มีความก้าวหน้าให้พระองค์ทรงสบายพระราชหฤทัย

รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้การศึกษาของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีพลังในการขับเคลื่อนถึงนักเรียนและประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้มาชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้แก่ครูและผู้บริหารในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยมอบให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบกลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภายใต้การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งในส่วนของงานด้านการศึกษานั้น ทุกคนได้ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเสียสละมาโดยตลอด และเมื่อเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ทุกคนทุกฝ่ายก็จะได้เตรียมแผนงานการศึกษาที่มาจากการหารือร่วมกัน เพื่อให้เรื่องต่างๆ ที่จะดำเนินการเกิดความต่อเนื่องตามนโยบายที่สำคัญ อาทิ

โครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

  • การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยระบบ DLTV และ DLIT ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างครบวงจร โดยระบบ DLTV (Distance Learning Television) เป็นการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทางไปยังโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ 15,369 โรงเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งผลการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่าเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในด้านความพึงพอใจของครูและบุคคลทั่วไปที่มีต่อโครงการ โดยเฉพาะผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในด้านพฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียน มีวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ รวมทั้งการพัฒนาตนเองของครู ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากสาขาที่ตรงเอก รวมทั้งผลสอบ NT และ O-NET สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนระบบ DLIT (Distance Learning Information Technology) มีเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 15,553 โรงเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีจุดเด่นคือเป็นเครื่องมือที่พร้อมทั้งเนื้อหาและเทคโนโลยีสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบครบวงจร เปิดโอกาสสำหรับทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองด้วยเครื่องมือทุกชนิดโดยไม่มีข้อจำกัด เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ

  • การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบ TEPE Online (Teachers and Educational Personnels Enhancement Based on Mission and Functional Areas as Majors) หรือ “การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน” เป็นเครื่องมือสำคัญที่เน้นให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้พัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ลดการทิ้งห้องเรียนของครู รวมทั้งการใช้พื้นที่ปฏิบัติงานของผู้บริหาร ช่วยประหยัดงบประมาณราชการ รายจ่ายของครู สามารถนำผลการพัฒนาไปใช้เกี่ยวกับความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งเรื่องการขอมี ขอต่อใบประกอบวิชาชีพ การเลื่อนวิทยฐานะ และการเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆที่สูงขึ้น

  • การบริหารงานบุคคลสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งมีกฎระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่นี้ โดย ก.ค.ศ.กำหนดให้มีความแตกต่างเหมาะสมต่อบุคลากรในพื้นที่

  • นโยบายการแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้  ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้โรงเรียนประถมศึกษาจำนวน 28,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการจัดทีมศึกษานิเทศก์ ติดตามช่วยเหลือ และนิเทศครูผู้สอน โดยใช้เทคนิคการผสมคำที่เรียกว่า “แจกลูกสะกดคำ” พร้อมทั้งใช้การกระตุ้นสมอง ให้รับรู้อย่างมีความสุขแบบ BBL มาใช้ ทำให้พบว่าในพื้นที่ดังกล่าว มีนักเรียนมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้เพิ่มสูงขึ้น

  • นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้  ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีการจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เช่น กิจกรรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การให้นักเรียนคิดและหาวิธีการแก้ปัญหาใกล้ตัวด้วยตัวเอง การร่วมกิจกรรมธนาคารขยะในโรงเรียน การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเอง กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

  • นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีหลายมาตรการ เช่น
         มาตรการด้านการประกันโอกาส ซึ่งมีการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง ทำให้นักเรียนได้รับประโยชน์รวม 7.6 ล้านคน, โครงการสนับสนุนอาหารนักเรียนบ้านไกลพักนอน, โครงการปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่ยากจนขาดโอกาส แต่มีความประพฤติดี-เรียนดี-มีความสามารถพิเศษได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ, โครงการจัดตั้งโรงเรียนศึกษาพิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและฟื้นฟูเด็กพิการ 5 ประเภท, โครงการจัดตั้งศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,797 คน
         มาตรการด้านการประกันคุณภาพ มีหลายโครงการ อาทิ โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, โครงการติวเตอร์, Fit It Center, การให้ทุนการศึกษา, การส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะของ กศน.
         มาตรการด้านการประกันประสิทธิภาพ ที่มีการดำเนินกิจกรรมโครงการ TEPE Online และการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เป็นต้น

  • นโยบายสานพลังประชารัฐ  ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ 2 กลุ่ม คือ 1) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ 2) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่มีผลโดยตรงกับโรงเรียนทั่วประเทศ

จุดเน้นที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้

  • โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม พัฒนาโปรแกรมการเรียนในรูปแบบวิทย์-กีฬา หรือศิลป์-กีฬา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี เพื่อต้องการให้เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถด้านกีฬาได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพทางด้านการกีฬาต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเติมในการจัดทำความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาหลายประเภท เพื่อให้กีฬาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความสุขและความสามัคคีให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และเพื่อให้ผู้เรียนใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เสริมสร้างสุขภาพพลานามัยให้สมบูรณ์แข็งแรง เป็นคนดี

ทั้งนี้ โครงการสานฝันฯ มีโรงเรียนที่ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่  1) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา ซึ่งเปิดรับเยาวชนในพื้นที่จบ ม.3 เข้าศึกษาต่อในชั้น ม.4-6 ในแผนการเรียนวิทย์-กีฬา จำนวน 50 คน ในกีฬาประเภทต่างๆ คือ ฟุตบอล เซปักตะกร้อ ปันจักสีลัต มวย วอลเลย์บอล ซึ่งผลการดำเนินโครงการพบว่านักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับภาค จำนวนมาก  2) โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ เปิดรับสอบนักเรียนเข้าเรียนต่อในชั้น ม. 4 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 แผนวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา (เน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษ) และจัด 3 ประเภทกีฬา คือ ฟุตซอล วอลเลย์บอล และฮอกกี้ โดยมีนักเรียนเข้าศึกษาจำนวน 60 คน ส่วนในปีการศึกษา 2559 เปิดรับสมัครนักเรียนจำนวน 80 คน

ในส่วนของการพัฒนาครูผู้สอนนั้น ได้มีพิธีเปิดการอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาและบุคลากรสนับสนุนตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมพาวิลเลี่ยน อำเภอเมืองสงขลา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

  • การศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคง

  • การศึกษาเพื่อการมีอาชีพและมีงานทำ ฯลฯ

 

กิ
11 พฤษภาคม 2559 ที่ จ.ยะลา

 
 

เปิดศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลพร่อน อำเภอเมืองยะลา
รวมทั้งตรวจเยี่ยมโรงเรียนมุสลิมศึกษา ตำบลพร่อน อำเภอเมืองยะลา
ภาพ : กนกวรรณ สังข์ทอง กศน.ยะลา

 
 

มอบนโยบายการยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่หอประชุมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ภาพ : วิศิษฐ์ เจียรณัย ETV

 
     
 

12 พฤษภาคม 2559 ที่ จ.นราธิวาส

 
 

มอบนโยบายการยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส


เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพ : บัลลังก์ โรหิตเสถียร

 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อมูลจากนิทรรศการที่ได้เยี่ยมชม และผลการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง แสดงถึงความตระหนักและการเห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างชัดเจน ประกอบกับการปฏิบัติที่จริงจัง นำนโยบายลงสู่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิผล เป็นรูปธรรม ทำให้มั่นใจว่าคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างแน่นอน นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข และสุดท้ายพวกเราซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาก็มีความสุขร่วมกันด้วย


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
12/5/2559