เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี

การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี


จังหวัดกาญจนบุรี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี (Kanchanaburi Special Economic Development Zone) เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับมอบหมายเป็นผลัดเวรเฝ้าฯ ในพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี เป็น 1 ใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย นอกจากเชียงราย ตาก สงขลา นราธิวาส มุกดาหาร นครพนม หนองคาย สระแก้ว และตราด ประกอบด้วย 2 ตำบลในอำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้แก่ ต.แก่งเสี้ยน และ ต.บ้านเก่า เป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพใน 4 ด้าน คือ นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การเกษตรกรรม และการค้าผ่านแดน แต่ขณะนี้ในพื้นที่กาญจนบุรีอาจจะยังไม่กระทบชัดเจนมากนัก จนกว่าท่าเรือทวายซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้จุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า จะแล้วเสร็จ จะกลายเป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกของประเทศ ซึ่งจะสอดรับกับแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง อีกด้วย

การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ได้เน้นจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนรองรับพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกระดับ ซึ่งพบว่าคุณภาพการจัดการศึกษาของ จ.กาญจนบุรี ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบ O-NET ค่าเฉลี่ยใน 5 กลุ่มสาระหลัก และผู้เรียนมีอัตราการเรียนต่อในระดับค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือ มีภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งชุมชน ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาจำนวนมาก

การดำเนินการบูรณาการจัดการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งจัดการศึกษา เตรียมคนรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี” โดยดำเนินการเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเร่งด่วน (กำลังดำเนินการ ปีงบประมาณ 2559)

  • พัฒนาและจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการสร้างคน โดยการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และความต้องการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียน 6 ด้าน ได้แก่ ความรู้และทักษะ เจตคติ คุณธรรม ภาษา ทักษะอาชีพ และภูมิคุ้มกันครอบคลุมเนื้อหาด้านเศรษฐกิจ อาชีพ ภาษา สังคม และวัฒนธรรม

  • ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการที่ดี ที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้สู่ทักษะอาชีพ

  • ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

  • ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรม ให้ความรู้ชุมชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพิเศษ

  • จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี

ระยะสั้น (ปีการศึกษา 2560)

  • นำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไปใช้จริง พร้อมทั้งมีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 2

  • ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กับทุกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี 2 ตำบล คือ ต.บ้านเก่า และ ต.แก่งเสี้ยน

  • จัดหาสื่อ หนังสือ วัสดุฝึก อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยและเพียงพอ

  • ยกระดับความสามารถของผู้เรียน เพื่อให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสมรรถนะหลัก (Core Competency) และสมรรถนะในการทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ (Function Competency) โดยใช้ V-NET การประเมินด้านมาตรฐานวิชาชีพ และการประเมินระดับห้องเรียน สร้างเสริมทักษะอาชีพในอนาคตด้วยกิจกรรมองค์การวิชาชีพ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม วิถีประชาธิปไตย ความมีวินัย เสริมสร้างทักษะชีวิต ความสามารถด้านนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ การเป็นผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะการคิดบนพื้นฐาน Competency Based, Technology Based, Green Technology, Creative Economy รวมทั้งการแก้ปัญหาด้านพฤติกรรม และการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ อาทิ สุภาพบุรุษอาชีวะ ลูกเสือ กีฬา การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท

  • เตรียมผู้เรียนสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเพิ่มจำนวนสถานศึกษา English Program (EP) และ Mini English Program (MEP) ใช้หลักสูตร/สื่อต่างประเทศ สนับสนุนการฝึกงานต่างประเทศ ยกระดับทักษะด้านภาษาอังกฤษ การเรียนรู้ภาษาประเทศคู่ค้า

ระยะยาว (ปี 2560 เป็นต้นไป)

  • เพิ่มช่องทางการเรียนอาชีวศึกษา ด้วยอาชีวะทางไกลและเครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ (R-radio Network)

  • ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาตามความต้องการของพื้นที่ และการให้บริการกลุ่มเป้าหมายพิเศษ อาทิ คนพิการ ผู้สูงวัย ฯลฯ

  • ใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอน สนับสนุนความพร้อมในด้านฮาร์ดแวร์ สื่อการเรียนการสอน ส่งเสริมการประกวดสื่อ/สื่อออนไลน์ และจัดตั้งวิทยาลัยต้นแบบการใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอน

  • สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อพัฒนาการจัดอาชีวศึกษา

  • จัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ตามที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ได้ร่วมมือกันจัดขึ้น เช่น โลจิสติกส์ โรงแรมและการท่องเที่ยว อัญมณีและเครื่องประดับ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์เล็ก เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ตัวถังและสี เป็นต้น

  • ศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความสำเร็จของการจัดการศึกษา เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

  • ศึกษา วิจัยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพเข้ากับบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด

ในการประชุมในครั้งนี้ ผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้เสนอความคิดเห็น ปัญหา ข้อเสนอแนะ ในการเตรียมความพร้อม การจัดการปัญหา และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำแผนการศึกษาและหลักสูตรให้สอดคล้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีต่อไป