เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา

การประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา


จังหวัดสงขลา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา อำเภอสะเดา เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2559 เพื่อประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา อำเภอสะเดา

ประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา

เวลา 10.00 น. รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รวมทั้งผู้บริหารทุกสังกัดภายในจังหวัด ตลอดจนนักวิชาการ ผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อสรุปรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ตามประกาศของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ที่ได้กำหนดให้จังหวัดสงขลา เป็น 1 ใน 10 ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไทย เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่สำคัญของประเทศในการสร้างฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับอาเซียนและจัดการพัฒนาเมืองชายแดน ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

ในการขับเคลื่อนแผนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา มีผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดทำแผนและการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและจัดประชุมหารือเกี่ยวกับแผนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่องและบูรณาการการจัดการศึกษาภายในจังหวัด

โดย รมช.ศึกษาธิการ ได้เน้นให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมประสาน ร่วมคิด ร่วมใจกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการศึกษาสู่การมีอาชีพ มีรายได้ มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป นอกจากนี้ได้แจ้งให้ทราบถึงการเตรียมการจัดประชุมรายงานผลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเศรษฐกิจพิเศษภาพรวมทั้ง 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อถอดบทเรียนและพัฒนาแผนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ที่จะสามารถนำแผนไปปรับใช้งานจริงให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอแผนงานขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา (Songkhla Special Economic Development Zone) ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ด่านการค้า เพิ่มมูลค่าส่งออกภาคใต้ หลากหลายระบบขนส่ง” ดังนี้

– ขอบเขตพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลามีพื้นที่รวม 552.3 ตารางกิโลเมตร (345,187.5 ไร่) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอสะเดา ได้แก่ ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว ตำบลปาดังเบซาร์ มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ 950 กิโลเมตร และมีด่านที่สำคัญคือ ด่านชายแดนสะเดาและด่านชายแดนปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่อกับรัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย
– ศักยภาพและโอกาส
      1) เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคใต้ สงขลาเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคใต้ เนื่องจากมีด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ เป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับหนึ่งและอันดับสองของไทยตามลำดับ ด้วยทั้งสองด่านอยู่ใกล้ท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย มีการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซียผ่านทางปาดังเบซาร์ และมีฐานการผลิตในพื้นที่ทั้งด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล และอิเล็กทรอนิกส์
      2) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรือปีนัง ท่าเรือกลางมาเลเซีย สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตลอดจนเชื่อมโยงแผนพัฒนารัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย (Northern Corridor Economic Region : NCER) ซึ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจการเกษตร คมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับอินโดนีเซียในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสุมาตรา ซึ่งมีการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติและเป็นแหล่งสำรองพลังงานที่สำคัญ
– การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จังหวัดมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ
      1) ถนนมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-สะเดา-มาเลเซีย มูลค่า 23,000 ล้านบาท เพื่อเป็นโครงข่ายสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563
      2) รถไฟรางคู่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เพื่อรองรับการเปิดสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตของสหพันธรัฐมาเลเซียและที่ตั้งอยู่ในฝั่งไทย รวมทั้งเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงจากมาเลเซีย-สิงคโปร์ด้วย ทั้งนี้ได้เปิดทดลองเดินขบวนครั้งแรกเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558
      3) การพัฒนาด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์ เพื่อรองรับการค้าข้ามแดนผ่านด่านศุลกากรที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และเป็นประตูดึงนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์สู่ประเทศไทย
      4) โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าและประปา เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม และขยายเขตระบบสาธารณูปโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

สรุปความก้าวหน้าการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา

• ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา โดยนายสันติ แสงระวี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 : ได้มีการกำหนดแผนและยุทธศาสตร์การศึกษาในเขตพัฒนาเศษฐกิจสงขลาโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตลอดจนยุทธศาสตร์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และโครงการประชารัฐ เป็นหลักในการดำเนินการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด โดยบูรณาการการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงปริญญาเอกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพในทุกระดับทุกสังกัด ได้แก่ สพป.สงขลา เขต 1-3, สพม.16, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, การศึกษาพิเศษ, สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน, ตำรวจตระเวนชายแดน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกจากนี้ได้จัดทำหลักสูตรเฉพาะทาง ใช้สถานประกอบการเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมกำกับ ติดตาม ประเมินผลคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมสามารถต่อยอดความรู้และทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาจังหวัด
          ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 2 ส่วน คือ
          1) ระดับรัฐบาลหรือกระทรวง ควรมีนโยบายที่ชัดเจนและสนับสนุนกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ โดยในระยะยาวให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจในพื้นที่ มีการสนับสนุนงบประมาณ และมีการบูรณาการพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุกพื้นที่
          2) ระดับจังหวัด จัดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศกลาง ตลอดจนประสานความต้องการของหน่วยงาน สถานประกอบการ และสถานศึกษา เพื่อจัดทำข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ในระยะยาวควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล ตลอดจนให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับและจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะต่อไป

• สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 โดยนายศลใจ วิบูลกิจ ผอ.สพม.16 : ได้เตรียมแผนขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของโรงเรียนนำร่องในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาตามความต้องการของผู้ประกอบการและสังคมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย 3 ส่วน คือ มั่นคง-มีความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่สงบสุข มั่งคั่ง-มีอาชีพมีรายได้และยั่งยืน-มีการจัดการ มีความเข้าใจ มีความร่วมมือ โดยมีแนวทางดังนี้
          1) ด้านองค์ความรู้ โดยสถานศึกษาจัดหลักสูตรเกี่ยวกับอาชีพที่ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กิจการอบพืชและไซโล กิจการผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับงานก่อสร้างหรืออุตสาหกรรม กิจการชิปปิ้ง กิจการโลจิสติกส์เป็นต้น พร้อมทั้งสอดแทรกการปรับตัวและการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การค้าขาย เงินตรา และกฎหมาย พร้อมทั้งร่วมมือกับสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง องค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และ อปท. ในการแนะแนวและสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน
          2) ด้านทักษะ ได้แก่ ด้านภาษา ทั้งจีน มลายู และอังกฤษ, ด้านคอมพิวเตอร์ และด้านอาชีพ โดยสถานศึกษาจัดหลักสูตรตามความต้องการสนใจของผู้เรียน และร่วมมือกับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานประกอบการ และศูนย์การเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน
          3) คุณลักษณะ สถานศึกษาจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยปลูกฝังและสอดแทรกคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ทั้งในเรื่องของความขยัน อดทน และซื่อสัตย์
          นอกจากนี้ ได้รายงานถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษา 3 ข้อ คือ การขาดแคลนครูสอนภาษามลายูและภาษาจีน ข้อจำกัดด้านงบประมาณสนับสนุนในการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนและด้านแหล่งเรียนรู้

• สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3 โดยนายถนอม สุขคำ ผอ.โรงเรียนชุมชนบ้านปาดัง : มีแนวทางในการจัดจัดการศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา กรณีโรงเรียนนำร่อง “โรงเรียนชุมชนบ้านปาดัง” คือ
          1) สำรวจความต้องการ ได้ทำการสำรวจความต้องการของชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับการการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน พบว่าต้องให้เน้นฝึกทักษะภาษาอังกฤษและมลายู เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ
          2) แนวทางการจัดการศึกษา สถานศึกษาได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษา (Mini English Program : MEP)ในรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา และภาษาอังกฤษ โดยจัดให้กับผู้ปกครองและนักเรียนที่มีความพร้อม, ได้เปิดสอนรายวิชาคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมตั้งแต่ระดับอนุบาล-ป.6, มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฝึกการใช้ภาษาอังกฤษและมลายู เช่น เพิ่มเวลาเรียนภาษาต่างประเทศ รายวิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ป.1-3 เป็น 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ชั้น ป.4-6 เพิ่มขึ้นเป็น 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือกับโรงเรียนรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
          ทั้งนี้ มีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเวลาเรียนภาษาต่างประเทศในชั้น ป.4-6 มากกว่า 3 ชั่วโมง, การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทักษะภาษาอังกฤษและมลายู และการแลกเปลี่ยนบุคลากร-นักเรียนนักศึกษากับประเทศมาเลเซีย มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก

• วิทยาลัยชุมชนสงขลา โดยนายนิยม ชูชื่น ผอ.วิทยาลัยชุมชนสงขลา : ได้จัดทำแผนพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มการค้าแรงงาน ภายใต้แนวคิด วิทยาลัยชุมชนสงขลากับการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้
          1) จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร อาทิ ภาษามลายู ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และด้าน ECommerce