เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จว.

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการพัฒนาโรงเรียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในการประชุมขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2561 ณ ห้องเรสซิเดนซ์ โรงแรมริเวอร์ไซด์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และคณะครูผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัด เข้าร่วมประชุมและรับฟังนโยบาย

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน และกำหนดให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุน และการบริหารแรงงานต่างด้าวแบบการใช้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ภายใต้กรอบแนวคิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคง ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ในส่วนของการศึกษาได้เน้นกลไกการสนับสนุนที่มีความยั่งยืนในการให้การศึกษาและฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

สพฐ. ได้ขับเคลื่อนและส่งเสริมการดำเนินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 23 เขต และ 47 โรงเรียน  แบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา 24 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา 23 โรงเรียน ใน 10 จังหวัดดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง มีผลการดำเนินงานก้าวหน้าในหลายส่วน อาทิ การทบทวนการดำเนินงานของโรงเรียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมวางแผนการทำงานในระยะต่อไป การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (20,000 บาทต่อแห่ง) และโรงเรียนฯ (150,000 บาทต่อแห่ง) นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการทำงานร่วมกับเครือข่ายใน 4 ภูมิภาคในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงานแต่ละภูมิภาค เป็นต้น

การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นการสรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมาของทั้ง 10 จังหวัด พร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนในระดับภูมิภาค และแนวทางการทำงาน ตลอดจนสร้างกลไกการขับเคลื่อนโครงการในปีงบประมาณ 2562

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานด้านการศึกษาของทั้ง 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในทุกเขตด้วยตนเองตลอดห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าทุกเขตดำเนินงานได้เป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง จึงขอชื่นชมทุกคนทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดภาพความสำเร็จในครั้งนี้

ขอฝากข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานปีงบประมาณ 2562 ให้เน้นการเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานอย่างเข้มข้นและยั่งยืนทั้ง 6 ภาค โดยเฉพาะกับศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และสำนักงาน กศน. ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ทั้งการเชื่อมโยงด้านการพัฒนากำลังคน การให้การศึกษา การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การมีงานทำ การเป็นคนดีของสังคม รวมไปถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินงาน บนพื้นฐานข้อมูลและการเตรียมการพัฒนาบนความต่าง ทั้งด้านวิสัยทัศน์ เป้าหมาย หรือศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน

นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังได้สนับสนุนให้มีโครงการเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่จะเป็นการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 ใน 6 ภาค รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่, ภาคกลาง ที่จังหวัดกาญจนบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดศรีสะเกษ, ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง, ภาคใต้ที่จังหวัดสตูล และภาคใต้ชายแดน นำร่องอย่างเป็นทางการที่จังหวัดปัตตานี และดำเนินงานคู่ขนานในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ตามลำดับ

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ทบทวนและพัฒนาแผนงานให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะแผนที่ดี เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ก็ย่อมเกิดเป็นผลสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ที่ดีตามมาเช่นกัน ส่วนข้อเสนอแนะจากผู้บริหารเขตพื้นที่ต่าง ๆ ก็ขอให้นำไปพิจารณาต่อยอดและขยายผลในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญคือ ขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

“การสร้างการรับรู้ ควบคู่ทุกขั้นตอนการปฏิบัติ” อันจะนำมาสู่ความร่วมมือในการทำงานระดับพื้นที่ต่อไป


Written by อิทธิพล รุ่งก่อน, นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร