เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ในการประชุมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2562 ณ โรงเรียนอนุบาลสตูล อ.เมืองสตูล

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยในช่วงระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2562 มีสาระสำคัญ อาทิ นิยามของคำที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา, วัตถุประสงค์, การดำเนินการของจังหวัดอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา, ขอบข่ายความรับผิดชอบของศึกษาธิการจังหวัด, เงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง, การประเมินผลการดำเนินงานทุก 3 ปี เป็นต้น

ศธ.ก็ได้ประกาศพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องใน 6 ภาค ซึ่งจังหวัดสตูล อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด เป็น 1 ใน 6 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องที่จัดตั้งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เปรียบเสมือน “การระเบิดจากข้างใน” โดยนำนวัตกรรม แนวความคิด ตลอดจนองค์ความรู้ และภูมิปัญญาในท้องถิ่น เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ศธ. ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเต็มขีดความสามารถ พร้อมทบทวนกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงเพิ่มเติม ให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานและงบประมาณมากขึ้น และยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และคณะทำงานในแต่ละจังหวัด นำโดยศึกษาธิการจังหวัด พร้อมดึงหน่วยงานทางการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 แห่ง

จากการรับชมนิทรรศการและผลงานนวัตกรรมการจัดการศึกษาของสตูล รู้สึกประทับใจและต้องขอชื่นชมในความสามารถของเด็กเยาวชน ครู ผู้บริหารโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในโรงเรียนทั้ง 10 แห่งในพื้นที่จังหวัดสตูล ถือว่ามีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการศึกษาและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้จังหวัดสตูลที่มีทุนเดิมทางการศึกษาที่ดีอยู่แล้ว มีคุณภาพและมีความสำเร็จมากยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ขอย้ำว่าในการดำเนินงานให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว พร้อมทบทวนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมกับ “ภูมิสังคม” อย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นจึงจะเกิดการพัฒนาที่มีประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า คนไทยนับว่าโชคดีอย่างที่สุด ที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรมาอย่างยาวนาน จึงขอให้ทุกคนน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงาน โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา ใช้เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต ที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รู้ รัก สามัคคี และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสอดคล้องกับการยกระดับการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ความว่า “การให้การศึกษาที่ดีนั้น เป็นงานที่ละเอียดลึกซึ้งมาก จำเป็นต้องใช้ความรู้อันกว้างขวาง ใช้ความสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยความตั้งใจ และความเพียรพยายาม และความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะทำได้สำเร็จ”

ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวรายงานผลการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล และการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุมบัวหลวง โรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้กับสถานศึกษานำร่องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่ และเป็นการแสดงพลังของการมีส่วนร่วมและความพร้อมในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลให้เป็นที่ประจักษ์

ตามแผนการดำเนินงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้แทนคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล รวมทั้งมีผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้แทนครู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมจำนวน 149 คน

สรุปภาพรวมการปฏิรูปการเรียนรู้
ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

1) การสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ ศธ.: นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.  “กระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบให้ สพฐ. ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยประกาศให้ “สตูล” เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแห่งแรก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super board) และที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. โดยดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) เพื่อลดช่องว่างและข้อจำกัดต่าง ๆ ทางการศึกษา พร้อมรวมพลังร่วมจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน เพื่อผลลัพธ์ในการสร้างผู้เรียนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 ตอบโจทย์ชีวิตในอนาคต โรงเรียนมีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนได้แนวทางการปฏิรูป เพื่อเป็นข้อเสนอแนะปรับเปลี่ยนการศึกษาทั้งประเทศต่อไป”

2) ความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล: นายอภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์ กรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยแก้ไขสภาพปัญหาการศึกษา โดยความร่วมของภาคีเครือข่ายและครู 3 เส้า ได้แก่ ครูพ่อแม่ ครูชุมชน ครูโรงเรียน เพื่อสร้างให้เด็กสตูลมีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่จะเป็นการสร้างให้เกิดความมั่นคงชีวิต รู้คุณค่าในตัวเอง มีสัมมาชีพ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดความหวงแหนชุมชน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ยั่งยืน ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน อำเภอ และจังหวัดสตูลโดยรวมด้วย

ตั้งแต่มีการประกาศให้ “จังหวัดสตูล” เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลผ่าน Social Mapping เก็บข้อมูลทุนชุมชน 5 ทุน (ทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม ทุนมนุษย์ ทุนเงินตรา ภูมิปัญญา) เพื่อวิเคราะห์ จัดทำเป็นหลักสูตร “ภูมิสังคม” โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ฐานวิจัย ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก 10 แห่ง ได้แก่ 1) โรงเรียนอนุบาลสตูล 2) โรงเรียนบ้านเขาจีน 3) โรงเรียนวัดหน้าเมือง 4) โรงเรียนบ้านทางงอ 5) โรงเรียนบ้านควนเก 6) โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ 7) โรงเรียนอนุบาลมะนัง 8) โรงเรียนบ้านโกตา 9) โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก และ 10) โรงเรียนบ้านทุ่งสภากาชาดอุปถัมภ์ 2550

โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การสร้างความเข้าใจให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียน, การอบรมครูแกนนำ, การอบรมการใช้เครื่องมือในการศึกษาทุนทางสังคม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป ในการจัดอบรมหลักสูตรใหม่สำหรับการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 การเรียนรู้ Digital Platform ที่เหมาะกับบริบทของจังหวัดสตูล การประเมินต่าง ๆ เป็นต้น”

3) ผลการระดมความคิดเพื่อการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล: นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ กรรมการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล “ด้วยกระบวนการ World café ใน 4 ประเด็น ดังนี้

     กลุ่มที่ 1 เป้าหมายที่จะไปด้วยกัน  ได้วางเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมในโรงเรียนเป็นหลัก สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ลดการท่องจำ เน้นให้เด็กคิดเองทำเอง มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ตลอดจนมีสำนึกรักบ้านเกิด และสอดแทรกคุณธรรม ให้เด็กพัฒนาตัวเองเต็มตามศักยภาพ สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวเองและรอบตัว มาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และจังหวัด ส่วนครูครู เน้นยกย่องคนดีก่อนคนเก่ง รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน และให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาเด็ก และเอาใจใส่บุตรหลาน ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพและความถนัดของตนเอง

     กลุ่มที่ 2 ปัญหาอุปสรรคเชิงระบบในการจัดการศึกษา ได้มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในหลายส่วน อาทิ การปรับเปลี่ยนนโยบาย การสร้างความตระหนักต่อความสำคัญทางการศึกษา ตลอดจนการขาดแคลนครู สื่อ และเทคโนโลยี ในหลายประเด็น อาทิ สถานศึกษาควรสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้รู้ เข้าใจ และสร้างความเชื่อมโยงในการทำงาน, การวางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาศัยครู พ่อแม่ และชุมชน, การปรับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เน้นสื่อสารกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเรียนที่ดี, การแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และขยายภาคีเครือข่ายในการทำงาน, เพิ่มทักษะและพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

     กลุ่มที่ 3 การปรับเปลี่ยนการเรียนรู้  โดยมีความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในหลายส่วน อาทิ การจัดกิจกรรมเสริม “ชั่วโมงอิสระ” ในช่วงเวลาว่าง, การพัฒนาความรู้และทักษะตามความชอบ และความถนัดของเด็ก, เป็นโค้ชฝึกให้เด็กอ่านออกเขียนได้, ส่งเสริมการเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม, จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยอย่างเพียงพอ, มีครูครบชั้น ครบกลุ่มสาระฯ, ลดภาระงานครู ให้ได้สอนเต็มที่ เต็มเวลาเต็มหลักสูตร, มีหลักสูตรชุมชนสอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นวิชาที่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริง, ครู/ผู้ปกครอง/ชุมชน ให้ความร่วมมือ และชุมชนมีส่วนร่วมดูแลนักเรียน พร้อมส่งเสริมความรู้ในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

     กลุ่มที่ 4 ผลการดำเนินงาน Social Mapping  ได้มีการนำเสนอผลของการดำเนินกิจกรรม Social Mapping ในพื้นที่ชุมชนในโรงเรียนทั้ง 10 แห่ง ทั้งในส่วนของ R1 Review ความรู้ที่มีอยู่แล้ว และ R2 Research ข้อมูลที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า ทำอะไรบ้าง ได้อะไรบ้าง ค้นพบอะไรบ้าง (ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ทุนเงินตรา ทุนทรัพยากร และทุนภูมิปัญญา) เพื่อจัดทำหลักสูตรภูมิสังคมต่อไป”

Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว, ปกรณ์ เรืองยิ่ง
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor/Graphic บัลลังก์ โรหิตเสถียร