ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “โรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ หลักสูตรเข้าใจวัยรุ่นด้วยโยนิโสมนสิการ” เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2560 ณ หอประชุมโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารจากหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนปทุมคงคา, โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต, โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบําเพ็ญ พร้อมทั้งคณะครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน เข้าร่วมงาน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า รู้สึกยินดียิ่งที่ได้มาพบปะเยี่ยมเยียนโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยใคร่ขอความร่วมมือจากครู อาจารย์ และผู้ปกครองในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม และน้อมนำแนวคิดศาสตร์พระราชา ในการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมควบคู่กันไป ซึ่งการเป็นโรงเรียนคุณธรรมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีกรอบแนวคิดที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม
นอกจากนี้ ฝากให้ลูกหลานนักเรียนคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนชาติไทย เป็นคุณงามความดีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนน้อมถ่อมตน ความเป็นสุภาพชน ความขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความเป็นคนดี ใต้ร่มพระบารมีไว้ให้ได้
ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่ลูกหลาน เยาวชนไทย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2527 ใจความว่า “วัยเด็กเป็นวัยเริ่มต้น เป็นวัยเตรียมตัวเพื่อสร้างความเจริญ มั่นคงในชีวิตเด็ก ๆ จึงควรรีบขวนขวายศึกษา จักได้ มีความฉลาดรอบรู้ ว่าอะไรคือความดี และอะไรคือความเสื่อมเสีย เพื่อนำทางชีวิตของตนไปสู่ความสุข ความเจริญได้โดยถูกต้องและสมบูรณ์” เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานเยาวชนไทยสืบไป
ขอให้ลูกหลานนักเรียนสืบสานพระราชปณิธาน ก้าวเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทั้งเรื่องการมีแนวคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง ความเป็นคนดีของสังคม ความเป็นนักการศึกษา ความเพียร และความซื่อสัตย์สุจริต
อนึ่ง โยนิโสมนสิการ (อ่านว่า โยนิโส-มะนะสิกาน) ประกอบด้วย 2 คำ คือ โยนิโส มาจากคำว่า โยนิ ซึ่งแปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง และมนสิการ หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา
ดังนั้น โยนิโสมนสิการ จึงหมายถึง การคิดหรือพิจารณาโดยแยบคาย หรือการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน หรือสามารถคิดเป็น วิเคราะห์เป็น โดยคิดและวิเคราะห์ได้อย่างถูกวิธี นั่นคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณาไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้าน จนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าว (ปรโตโฆสะ) อีกชั้นหนึ่ง เป็นบ่อเกิดแห่งสัมมาทิฐิ ทำให้มีเหตุผล ไม่งมงาย
อิทธิพล รุ่งก่อน, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
23/7/2560