เด็ก Gen Z

รมช.ศึกษาธิการ “นพ.อุดม คชินทร” ร่วมงาน “มหกรรมอุดมศึกษา UniversitiesXpo” ย้ำให้สถาบันอุดมศึกษามีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปี 2561 ที่จะมีเด็ก Gen Z เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก รวมทั้งปรับทิศทางมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายใหม่คือ มุ่งพัฒนาคนวัยทำงาน เปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ เพิ่มหลักสูตรแบบ Non-degree เพื่อเป็นแกนหลักขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0



เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดงาน “มหกรรมอุดมศึกษา  UniversitiesXpo: อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ทปอ. โดยได้รับเกียรติจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง “ประเทศไทยกับเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน” และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษาในยุคของคนรุ่น Z” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมงานจำนวนมาก


นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนรุ่น Z หรือเด็ก Gen Z จำนวนมาก และในปี 2561 จะเป็นปีแรกที่เด็ก Gen Z เริ่มเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อกับเด็ก Gen Z ด้วยความเข้าใจในความคิดพื้นฐาน พร้อมร่วมกันคิดเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์และเข้ากับพฤติกรรมการเรียนรู้กับเด็กกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด


หากจะกล่าวถึงเด็ก Gen Z ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2543 (ปี ค.ศ.2000) เป็นต้นมา ถือเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะคือ เกิดและเติบโตมาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้สามารถสื่อสารแบบ Multi-task มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสงสัยอยากรู้อยากเห็น ตลอดจนมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และ มีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนโลกหรือทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นจนประสบความสำเร็จ และแม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แต่ก็เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตอาสา และนึกถึงผู้คนอื่นด้วย



นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ในปี ค.ศ.2030 ธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะมีผลทำให้อาชีพต่าง ๆ หายไป ประกอบกับแนวโน้มในอนาคตนักเรียนนักศึกษาเลือกที่จะทำงานก่อน จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  หรือเรียนไปทำงานไปด้วย ทำให้การเรียนและการทำงานเป็นสิ่งเดียวกัน


ดังนั้น ทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับเปลี่ยนและวางเป้าหมายใหม่ คือ มุ่งพัฒนาคนวัยทำงาน, เปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ, เพิ่มหลักสูตรแบบ Non-degree ให้มากขึ้น ส่วนคณาจารย์ต้องอำนวยความสะดวกด้านการเรียนรู้จากของจริง และสถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ เตรียมคนให้มีความพร้อมสำหรับอาชีพอนาคต รวมทั้งหาตัวตนและจุดเด่นเพื่อมุ่งเป้าได้ถูกทิศทาง การบูรณาการหลากหลายศาสตร์ เน้นสมรรถนะ และเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ปลูกฝังความดี ตลอดจนมุ่งเน้นการศึกษาที่ต้องเตรียมคนไทยสู่สังคม 4.0 ได้แก่ เรียนรู้อย่างมีเป้าหมายเน้นสร้างนวัตกรรม, เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์, เรียนรู้เพื่อส่วนรวม และเรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติ




งานมหกรรมอุดมศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2561 ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ. เข้าร่วม 33 สถาบัน เพื่อร่วมแสดงพลังและศักยภาพขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 กลไกสำคัญในการผลิตกำลังคน ค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้บริการวิชาการแก่สังคม อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, ความร่วมมือและกิจกรรมร่วมของกลุ่มมหาวิทยาลัย, ความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ, มหาวิทยาลัยเอกชน ตลอดจนการประชุมสัมมนา ปาฐกถา นำเสนองานวิจัย และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น


โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเกษตรก้าวหน้า (Smart Farming) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น ด้านการเกษตรสมัยใหม่ ถ่ายทอดแก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) 5 แห่ง ได้แก่ วษท.เชียงใหม่, วษท.ลำพูน, วษท.แพร่, วษท.เชียงราย และ วษท.พะเยา โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะสนับสนุนอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ  เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วย







Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
More Photos facebook ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี