
การเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นหนึ่งในรูปแบบของการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ของหลักสูตรและความต้องการของผู้เรียน โดยการจัดการเรียนการสอนตามแนวนี้ จะช่วยให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงของแต่ละวิชาที่มีต่อกัน
“เรียนรู้ข้ามโลก” ฉบับนี้ ขอนำเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการสำหรับเด็กในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถม 4
องค์ประกอบ 3 ด้าน
การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการออกแบบที่เหมาะสม โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ
1. เนื้อหาสาระ ประกอบด้วย หัวข้อเรื่องที่จะศึกษา ปัญหาหรือโจทย์ในการเรียนรู้
2. ทักษะและกระบวนการคิด ครูต้องฝึกฝนเด็กให้มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ มีความเข้าใจในด้านการอ่าน การวิเคราะห์ เป็นต้น
3. การประเมินผล พิจารณาจากผลงานของเด็กที่แสดงให้เห็นถึงทักษะต่างๆ และกระบวนการคิด ครูอาจดูจากงานเรียงความ การทำชิ้นงาน การแสดงเดี่ยวของเด็ก โครงงาน การจดบันทึก และการเข้าร่วมชั้นเรียนของเด็ก
หลักการสอนแบบบูรณาการ

1. ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาของสิ่งที่เด็กเรียนอย่างเป็นบูรณาการ โดยครูต้องเลือกจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของแต่ละเนื้อหาวิชาให้เด็กเห็น เพื่อให้เด็กสามารถตั้งโจทย์หรือหัวข้อปัญหาในแต่ละวิชาได้ หัวข้อในการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะต้องเป็นการเรียนการสอนจากของจริง และต้องเป็นประโยชน์กับตัวผู้เรียน นอกจากนี้ ครูจะต้องพัฒนาเด็กให้คุ้นเคยกับการหาความรู้ การตั้งสมมุติฐาน และวิธีการตั้งคำถามในเรื่องที่มีเนื้อหาสาระต่างๆ ในหลากหลายวิชา เพื่อให้เด็กสามารถเลือกคำถามที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง นอกจากนี้แล้ว แนวคิดหลักและวิธีการสอนที่ใช้กับหลากหลายวิชาเหล่านี้ ครูต้องสอนให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบูรณาการ และสอนในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับความสนใจ ระดับสติปัญญา และพัฒนาการทางสังคมของเด็ก
2. สร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ทั้งครูและเด็กสามารถเลือกหัวข้อ โจทย์ และยุทธศาสตร์ในการเรียนด้วยกัน ครูและนักเรียนจะต้องรักษาดุลยภาพของประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างเรื่องที่ครูคิดขึ้น และเรื่องที่นักเรียนคิด
3. พัฒนาห้องเรียนให้เป็นประชาธิปไตย เลือกหลักสูตรและจัดห้องเรียนที่ก่อให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ ที่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทั้งความเป็นอิสระในฐานะที่เป็นผู้สืบค้นความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ร่วมกันกับทั้งเพื่อนนักเรียนและกับครูในการตั้งคำถาม และความสามารถสืบค้นหัวข้อการเรียน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหา ครูต้องให้กำลังใจเด็กโดยการเพิ่มความรับผิดชอบด้านการเรียนของพวกเขา เพื่อที่เด็กจะเกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะหาข้อมูลต่างๆ เข้าใจและถ่ายทอดความคิดของตนเองออกมาเป็นคำพูดได้ และมีความสามารถในการตัดสินใจ
4. สร้างโอกาสที่หลากหลายในการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาทิเช่น การถกเถียงทางความคิด การสืบค้นความรู้ การจัดทำผลงาน การแสดงละคร และการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถ มุมมอง ประสบการณ์ สีผิว และความสนใจแตกต่างกันจะส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน และส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติในด้านบวกต่อผู้อื่นและต่อการเรียนรู้
5. เคารพความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรม นักเรียนควรเรียนโดยใช้ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง และมีหลายมุมมอง
6. สอนให้นักเรียนใช้ข้อมูลหลายแหล่ง อันประกอบไปด้วยข้อมูลดิบ การพูดคุยซักถาม การสังเกตโดยตรง และการทดลอง การใช้ข้อมูลหลายแหล่งและหลากหลายเป็นผลดีกับเด็กที่มีวิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และระดับความสามารถที่แตกต่างกัน ครูควรสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำและลดอคติ รวมทั้งพัฒนาความสามารถของเด็กในการเลือกแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับการสืบค้นข้อมูลในการแก้ปัญหาต่างๆ
7. ใช้ระบบสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบเป็นเครื่องมือในการนำเสนอความรู้ สัญลักษณ์ที่ว่านี้อาจหมายถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ในภาษา คณิตศาสตร์ ดนตรี ศิลป รวมทั้งตาราง แผ่นชาร์จ และกราฟแผนภูมิ
8. ใช้วิธีประเมินหลายรูปแบบทั้งในแง่กระบวนการและการแสดงออกทางการเรียนรู้ของเด็ก การประเมินผลในระหว่างกระบวนการตั้งคำถามควรนำนักเรียนและครูไปสู่จุดการพิจารณาเลือกเกณฑ์ร่วมกันว่า งานที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร การตัดสินใจว่าจะสอนแบบใดควรอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์การประเมินทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันได้แก่การสังเกต การพิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน และการประเมินการแสดงออกด้านการเรียนรู้ของเด็ก

ครูในฐานะผู้ออกแบบการเรียนการสอน จะหลุดพ้นจากรูปแบบการสอนที่จำเจแบบเดิมๆ ครูจะเกิดพลังในการทำงานที่มาจากการนำเนื้อหาเก่ามาจัดการโดยวิธีใหม่
นอกจากนี้ การใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการในหลักสูตรจะเชื่อมโยงให้ครูในสาขาวิชาต่างๆ หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันพัฒนาแผนการสอน เพื่อให้หลักสูตรบรรลุเป้าหมาย แทนที่จะต่างคนต่างสอนเหมือนเดิม วิธีการเช่นนี้จะส่งเสริมให้ครูทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
สำหรับประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับจากรูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการนั้นคือ การที่ครูกับนักเรียนจะมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ครูจะรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และสามารถส่งเสริมศักยภาพของเด็กแต่ละคนที่มีแตกต่างหลากหลาย นอกจากนั้นแล้ว การเรียนรู้แบบบูรณาการยังกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในเรื่องของการวิเคราะห์ การถ่ายทอดความคิดของตนเอง และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต
ดังนั้น การทำลายเครื่องกีดขวางเทียมที่ปิดกั้นระหว่างวิชาต่างๆ ออกไปโดยใช้รูปแบบการเรียนแบบบูรณาการ จะช่วยให้ผู้เรียนมีบริบทที่กว้างขึ้นในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูทุกคนทำได้ เพียงแค่ขอให้เริ่มลองลงมือทำเดี๋ยวนี้เท่านั้น
ตัวอย่างการเรียนรู้แบบบูรณาการในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ
- วิทยาศาสตร์ : ศึกษาประเภทต่างๆ ของเมฆหมอก สาเหตุของฟ้าร้องฟ้าผ่า
สังคม : สภาพดินฟ้าอากาศมีผลต่อการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย และอาหารการกินของแต่ละวัฒนธรรมอย่างไร
คณิตศาสตร์ : วัดและบันทึกปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิของแต่ละวัน หาค่าเฉลี่ยและเขียนเป็นแผนภูมิ
การอ่านและเขียน : ศึกษาบทกวี เรื่องสั้น หรือบทความที่กล่าวถึงดินฟ้าอากาศและฤดูกาล
เทคโนโลยี : ดาวน์โหลดภาพถ่ายดาวเทียมลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาเส้นทางผ่านของพายุ
ที่มาเว็บ : http://www.myfirstbrain.com