เปิดบ้านการศึกษาในเขต EEC
จังหวัดฉะเชิงเทรา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “เปิดบ้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)” เมื่อวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
นายกิตติพันธ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทราแบ่งออกเป็น 18 อำเภอ ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็น 1 ในจังหวัดของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ มีทรัพยากรที่หลากหลาย เช่น ภูเขา ป่าไม้ อุทยาน สัตว์ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ติดทะเล เป็นต้น ถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ที่ผ่านมาสถานศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทราสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพอยู่ในหลากหลายสาขาอาชีพ จึงเชื่อมั่นว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีความพร้อมในการบูรณาการเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และต่อมามีการประกาศ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2561 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักและดำเนินการในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC โดยกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออกและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นมีการจัดทำแผนและการร่วมมือรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของทั้ง 3 จังหวัด
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23-25 มีนาคม 2560 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการการจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในเรื่องของ 10 อุตสาหกรรมหลัก ตามความต้องการของพื้นที่ มีการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาแผนการจัดการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งครั้งนั้นได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษและเป็นประธานในพิธีปิด
จากนั้นวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออกและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมีการปรับแผนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” จังหวัดชลบุรี โดยได้มีการรับฟังและพิจารณาแผนของแต่ละหน่วยงานที่เสนอของบประมาณ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การดำเนินงานในวันนี้เกิดความต่อเนื่องจากทุกกระบวนการที่ผ่านมา
ดังนั้น การจัดงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อไป
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจอีกวันหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมใจกันทำงานในพื้นที่ EEC ภายใต้ชื่องาน “เปิดบ้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”
โดยส่วนตัวมีความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้ามาในโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เนื่องจากได้เห็นวิสัยทัศน์ที่ทางโรงเรียนประกาศไว้ว่า “การเรียนเด่น เป็นคนดี มีความสุข สนุกกับกิจกรรมสร้างสรรค์ ก้าวทันมาตรฐานสากล ดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นการรวบยอดความคิดทั้งหมดไว้แล้ว ถือเป็นเรื่องที่มีคุณค่าที่สุดของประชาชนชาวไทย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ก็ได้ทรงมีพระปณิธานที่จะรักษา สืบสาน ต่อยอด โดยมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องยาวนานอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับความพร้อมเพรียงของงานในครั้งนี้ เป็นผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยรัฐบาลปัจจุบันได้มองเห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถือเป็นส่วนนำที่จะทำให้การพัฒนาต่าง ๆ มุ่งเข้ามายังพื้นที่นี้ มีการระดมสรรพกำลังในการทำให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประเทศชาติและความสุขของประชาชนชาวไทย
ในด้านของการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การศึกษา” ซึ่งเรามีความมุ่งหวังร่วมกันที่จะทำให้การศึกษามีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2512 ว่า “การจัดการศึกษาต้องทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ริเริ่มแนะนำโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนนำร่องจำนวน 30 แห่ง และมีโรงเรียนคู่พัฒนาอีก 16 แห่ง รวมเป็น 46 โรงเรียน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีซึ่งการเริ่มต้นที่ดีนั้นส่งผลให้ความสำเร็จของงานผ่านไปได้แล้วกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นส่วนที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติด้วยความร่วมมือร่วมใจจึงจะเกิดผลสำเร็จ
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า
“สำหรับงานในวันนี้ ถือเป็นการสร้างความรับรู้ให้สังคมวงกว้างได้เห็นการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีความพร้อมอย่างไร และเป็นโอกาสที่สถาบันการศึกษาทุกฝ่ายนำผลงานและนักเรียนมาแสดงฝีมือ ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา ฝ่ายบริหารสถานศึกษา เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดผลงาน ส่งผลให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำในเรื่องการคิดร่วมกันให้ครบทุกฝ่าย หมั่นทบทวนงานให้ก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ตามแนวคิดที่ว่า”คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงใยการรับรู้ สู่การบูรณาการ สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ภายหลังพิธีเปิดงาน “เปิดบ้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับชมการแสดงความสามารถจากนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ และได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรม ผลงานจากสถานศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ที่นำมาจัดแสดงทั้ง 46 แห่ง