เปิดห้องเรียนดนตรี

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวโครงการห้องเรียนดนตรี และชมการนำเสนอผลงานของนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านทัศนศิลป์ ด้านดนตรี และนาฏศิลป์ รุ่นที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้องประชุมพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการแถลงข่าวในครั้งนี้ ยอมรับว่ามีความรู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ และตื้นตันใจเป็นอย่างมากสำหรับการได้มาสัมผัสกับแวดวงวิชาการในด้านของศิลปะและดนตรีในครั้งนี้


สำหรับการจัดโครงการห้องเรียนดนตรีที่ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นโครงการสำคัญที่จะส่งเสริม ต่อยอดความรู้ของนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษตามความสนใจและความถนัด ตลอดจนได้รับการพัฒนาทักษะจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและศิลปินแห่งชาติสาขาต่าง ๆ ให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของนักเรียนแต่ละคน และยังสอดคล้องตามหลักการของรัฐบาลในการพัฒนากำลังคนด้านการศึกษา สำหรับคนที่มีความสามารถพิเศษอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นงานที่ สพฐ. ได้เตรียมการไว้เป็นอย่างดีในการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการกับแผนงานที่มีอยู่แล้วในด้านทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์


นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สูงขึ้น ทั้งคุณภาพของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ลงไปทำงานปฏิบัติภารกิจกันอย่างเข้มข้น ซึ่งการเปิดโครงการห้องเรียนดนตรี จะเป็นอีกโครงการหนึ่งในเรื่องของการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา และมุ่งหวังที่จะใช้การศึกษาเป็นสื่อในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาที่ประสบความสำเร็จไปแล้วหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ห้องเรียนกีฬา” ตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา การจุดประกายความฝันของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชอบเล่นกีฬา โดยเข้าไปดูแลเป็นพิเศษทั้งในเรื่องการเรียนและกีฬา โดยให้ทุนการศึกษาเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี


จากการที่ได้ลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ได้เล็งเห็นว่าเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เก่งแต่ด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถพิเศษอีกหลายด้านก็ไม่เก่งแพ้กัน เพราะฉะนั้นเรื่องดนตรีก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2560 เป็นปีแรกอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและอนุมัติให้เปิดห้องเรียนดนตรี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัดตานี โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา  และโรงเรียนสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส



นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ สพฐ. จะได้ทำภารกิจของตัวเองให้เด่นชัด คือ การค้นหาความสามารถของนักเรียนในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมให้นักเรียนมีศักยภาพตามที่นักเรียนถนัด  ซึ่ง สพฐ. ได้ดำเนินการในระยะแรกเพื่อให้โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โดยเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ครูดนตรีของแต่ละโรงเรียน สถาบันการศึกษาด้านดนตรีในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนกลุ่มออกแบบและก่อสร้าง ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมประชุมวางแผนการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้




  • การรับนักเรียน  ในระยะแรกจะเปิดห้องเรียนดนตรีในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน โดยรับสมัครจากนักเรียนที่มีความสามารถด้านดนตรีของโรงเรียน และประชาสัมพันธ์การรับนักเรียนในพื้นที่ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึง



  • เรื่องหลักสูตร  ในปีการศึกษา 2560 โครงการห้องเรียนดนตรีจะเปิดสอน 2 ระดับชั้น ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เปิดสอนในแผนการเรียนวิทย์-ดนตรี และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เปิดสอนในแผนการเรียนศิลป์-ดนตรี และภายใน 3 ปีจะเปิดครบทุกระดับชั้น



  • ด้านอาคารสถานที่  โรงเรียนทั้ง 3 แห่งได้เสนอให้ใช้อาคารเรียนเดิม และปรับปรุงให้เหมาะสมแก่การเรียนการสอน มีการออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมแก่การเรียนดนตรี ซึ่ง สพฐ. ได้จัดสรรงบประมานในการพัฒนาห้องเรียนดนตรีไว้เรียบร้อยแล้ว



  • ด้านครุภัณฑ์ดนตรี  สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าครุภัณฑ์เครื่องดนตรี โดยพิจารณาจัดซื้อเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์เครื่องดนตรีขึ้นใหม่ เพื่อเสนอขอรับงบประมาณต่อไป



  • ด้านอัตรากำลัง  โรงเรียนได้วิเคราะห์ความต้องการอัตรากำลังของโรงเรียนร่วมกัน และเห็นว่าเพื่อให้การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาทักษะทางดนตรีของนักเรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ในระยะแรกควรมีครูอัตราจ้างไม่เกิน 5 คน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอนในรายวิชาดนตรีตามหลักสูตรที่กำหนด และสอนตามกลุ่มเครื่องดนตรีของวงโยธวาทิต ได้แก่ กลุ่มเครื่องลมไม้ (Woodwind) เครื่องลมทองเหลือง (Brass) และเครื่องจังหวะ (Percussion)



นางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรีทั้ง 3 แห่งว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 แบ่งเป็น 2 ระดับชั้นได้แก่




  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้ชื่อแผนการเรียนวิทย์-ดนตรี โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วยรายวิชาพื้นฐาน 11 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติม 4.5 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น 15.5 หน่วยกิต โดยได้จัดรายวิชาที่สำคัญต่อการเรียนดนตรี 5 วิชา จำนวน 3 หน่วยกิต เช่น การปฏิบัติเครื่องดนตรี การรวมวง โสตทักษะ ฯลฯ



  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้ชื่อแผนการเรียนศิลป์-ดนตรี โดยแต่ละโรงเรียนจะมีจำนวนหน่วยกิตที่แตกต่างกันไป แต่ในรายวิชาเพิ่มเติมได้จัดให้มีรายวิชาที่สำคัญต่อการเรียนดนตรีไว้เท่ากันคือ 3.5 หน่วยกิต  ประกอบด้วย 6 รายวิชา เช่น ทฤษฏีดนตรี การขับร้องเสียงประสาน โสตทักษะ คีย์บอร์ดหรือเปียโน และการรวมวง สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 จะมีรายวิชาแสดงดนตรีเพื่อให้นักเรียนได้นำเสนอผลงาน อันแสดงถึงศักยภาพเป็นรายบุคคล สามารถนำไปใช้ในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เพื่อสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านดนตรีได้



  • นักเรียนในโครงการทั้ง 2 ระดับชั้น จะต้องได้ฝึกปฏิบัติการรวมวงและกิจกรรมนอกเวลาเรียนด้านดนตรีไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมงต่อภาคเรียน เพื่อเป็นการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านดนตรี



นายสามารถ รังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 กล่าวว่า ด้านการเตรียมความพร้อมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 และโรงเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรี ได้มีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ของทั้ง 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 145 คน สรุปได้ดังนี้


ปัดตานี  โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับได้ 37 คน มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับได้ 13 คน


ยะลา โรงเรียนคณะราษฏรบำรุง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับได้ 41 คน มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับได้ 20 คน


นราธิวาส โรงเรียนสุไหงโกลก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับได้ 19 คน  มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับได้ 15 คน


ทั้งนี้ โรงเรียนได้วางแผนการสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เปิดสอนสาขาดนตรี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านดนตรีสากล และร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง และวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช) ในการส่งเสริมด้านดนตรีสากล ร่วมถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ โดยได้บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของโครงการห้องเรียนดนตรีเรียบร้อยแล้ว



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวสรุปการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วยว่า โครงการห้องเรียนดนตรีมีความพร้อมเป็นอย่างมาก สพฐ. ก็ได้เตรียมการเป็นอย่างดีในการสนับสนุนการเรียนที่ทำให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีแผนการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน และมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ถือว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานที่ได้เตรียมการไว้ จึงขอขอบคุณคณะทำงานทุกภาคส่วนที่ทำไห้เกิดเป็นโครงการห้องเรียนดนตรีขึ้นมาโดยมีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี



อิทธิพล รุ่งก่อน, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
7/5/2560