กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมแผนบูรณาการศึกษา ปีการศึกษา 2560 ให้สอดรับกับการที่รัฐบาลประกาศให้ “หนองจิก” เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าแบบผสมผสาน” (Agricultural Industry City)

เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา และนายปราโมทย์ แก้วสุข ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมประชุมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอหนองจิก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอำเภอหนองจิก หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในจังหวัดปัตตานี หัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดในจังหวัดปัตตานี คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือศูนย์ใต้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ประธานชมรมร้านอาหารจังหวัดปัตตานี และหน่วยงาน/ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เปิดเผยถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เห็นชอบหลักการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี พ.ศ.2560-2563) เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
-
อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” (Agricultural Industry City)
-
อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การค้าชายแดนระหว่างประเทศ” (International Border City)
-
อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development City)
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีการประชุมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบทั้ง 3 แห่ง โดยเริ่มต้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในวันที่ 19 ธันวาคม และ อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้แต่ละพื้นที่และจังหวัดได้ร่วมกันวางแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ให้ตอบโจทย์การเป็นเมืองต้นแบบในแต่ละด้าน และให้เป็นแผนบูรณาการศึกษาที่มาจากความต้องการของท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเมืองต้นแบบอื่น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล และการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
จากการประชุมครั้งนี้ ได้รับฟังความคิดเห็นและแผนดำเนินการของทุกส่วนราชการ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการส่งเสริมการเป็นเมืองต้นแบบด้าน “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าแบบผสมผสาน” (Agricultural Industry City) ของ จ.ปัตตานี เพราะความเป็นเมืองต้นแบบ แม้จะปักหมุดที่ อ.หนองจิก แต่การจัดการศึกษาในภาพรวม จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดความสอดคล้องกับอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย โดยหลังจากการประชุมครั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกันของทั้ง 3 พื้นที่อีกครั้งในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นจะมอบให้ศูนย์ใต้รวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำไปประมวลวิเคราะห์ในการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบฯ ทั้ง 3 แห่งให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ก่อนที่จะประกาศใช้ในปีการศึกษา 2560 ต่อไป

นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรวมกันของกระทรวงศึกษาธิการที่ “สร้างคน” และ “สร้างชาติ” คือ บุคคลและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ได้มาประชุมร่วมกัน โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น ต้องการเห็นภาคการศึกษาส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับผู้เรียนทุกระดับและทุกประเภท และยังจะช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าไปประชิดกับผู้ประกอบการมากขึ้น สำหรับหลักสูตรในการจัดการศึกษานั้น มองว่าไม่ควรกังวลกับจำนวนเวลาเรียนมากจนเกินไป เพราะประเทศรอบ ๆ บ้านเรา เรียนหนังสือกันครึ่งวันเท่านั้น แต่ภาคบ่ายได้สอนในสิ่งที่เด็ก ๆ สมควรรู้และตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของตัวเด็ก
อีกประการสำคัญคือ ต้องการให้สถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดปัตตานี ที่มีงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ควรให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตรเป็นอย่างมาก เมื่อคิดและผลิตออกมาได้แล้วต้องรีบไปนำเสนอบริษัท เพื่อสร้างรายได้ให้เกดขึ้นได้ทันที ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ที่ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานและสถานศึกษาทุกสังกัดให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์

นายอดินันท์ ปากบารา ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอให้อำเภอหนองจิกเน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์ โลโก้ หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ทางด้านต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นในอำเภอหนองจิก เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม ประมง ให้มีความชัดเจน และเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ในขณะเดียวกันอย่าลืมรากเหง้าที่สำคัญของหนองจิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางสังคมในพื้นที่หนองจิกที่มีมาอย่างยาวนาน สำหรับการจัดการศึกษาในภาพรวมนั้น ขอให้ครูทุกคนต้องเห็นความสำคัญของการแนะแนวเด็ก การจัดหลักสูตรต้องเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงกับชีวิตจริงในชุมชน เช่น หลักสูตรซ่อมเรือชุมชน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลด้วย
นอกจากนี้ หนองจิกอาจจะมีการจับคู่พัฒนาร่วมกับเมืองอุตสาหกรรมเกษตร กับประเทศอื่น ๆ เช่น เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันมีเด็ก ๆ จากเมืองหนิงเซี่ย มาเรียนต่อที่ปัตตานีจำนวนมาก
อีกประการที่สำคัญคือ ฝากให้อำเภอหนองจิกและจังหวัดปัตตานีพิจารณาเพิ่มเติมใน 4 ส่วน คือ ค้นหาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม จดสิทธิบัตร ผลิตและขาย
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
11/1/2560