รมช.ศึกษาธิการ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” เปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษระยอง และเยี่ยมชมโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชฟ ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะสาขาปิโตรเคมีให้เป็นคนเก่งและดี เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะชีวิตให้เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน จบออกมาได้งานและเงินเดือนดี พร้อมต่อยอดไปสู่สาขาไฟฟ้าและสาขาติดตั้งบำรุงรักษา เชื่อมโยงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในรูปแบบใหม่

วันนี้ (31 ม.ค.2561) ณ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดระยอง พร้อมเยี่ยมชมการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษารูปแบบใหม่ โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้บริหารในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผศ.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ฯลฯ

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดระยอง ได้นำเสนอความก้าวหน้าในการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC พบว่าการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชามีความสอดคล้องรองรับกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชฟ ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะสาขาปิโตรเคมีให้เป็นคนเก่ง ทั้งทักษะวิชาชีพ คุณธรรม จริยธรรม มีกระบวนการคิดและวิธีทำงานที่เป็นระบบ โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ที่พัฒนาทักษะชีวิต เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพปิโตรเคมี การจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานอาชีพ และการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ที่สำคัญเป็นการจัดอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี ที่ได้มีการระดมทรัพยากร การวัดผลและประเมินผล ร่วมกับสถานประกอบการ รวมถึงการสร้างเส้นทางอาชีพ และการวิจัยและพัฒนาในการผลิตกำลังคนรองรับเขตพื้นที่ EEC มาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นระยะที่ 4 (พ.ศ.2560-2562) ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานรองรับทั้งหมด 100 % และได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในระดับเดียวกันอีกด้วย
“ในปีนี้โครงการมีความก้าวหน้ามากขึ้นไปอีกลำดับหนึ่ง ด้วยสถานประกอบการกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการ เพื่อขยายผลการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาไปสู่อีก 2 สาขา คือสาขางานไฟฟ้า และสาขางานติดตั้งและบำรุงรักษา ซึ่งตอบโจทย์และเชื่อมโยงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในรูปแบบใหม่ ที่ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ควรจะได้ศึกษาและปรับแนวทางให้เหมาะสมในแต่ละเขตพื้นที่ต่อไป” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้ติดตามและรับฟังความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการขับเคลื่อนและบูรณาการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ระหว่างเวลา 13.30-16.00 น. ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อ.เมืองระยอง




“โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด มูลนิธิศึกษาพัฒน์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาช่างเทคนิคที่มีความสามารถเฉพาะทางด้านปิโตรเคมี ปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งหมด 8 รุ่น จำนวน 268 คน”

ข้อมูล/ภาพถ่าย: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง/กราฟิก
31 มกราคม 2561