เสมา2 นำผู้บริหาร ศธ. ปล่อยคาราวาน “ปลูกไม้ ปลูกชีวิต ปลุกจิตอนุรักษ์” แจกกล้าไม้ 4.7 หมื่นกล้า

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงาน “ปลูกไม้ ปลูกชีวิต ปลุกจิตอนุรักษ์” โดยความร่วมมือระหว่าง ศธ. และมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ณ สนามหญ้าหน้าอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานยุทธศาสตร์นโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายธนู ขวัญเดช รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารระดับสูง ศธ. และนักเรียนจากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เข้าร่วม
 width=
 width=
 width=
 width=
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คาราวาน “ปลูกไม้ ปลูกชีวิต ปลุกจิตอนุรักษ์” แจกกล้าไม้ 47,000 กล้า นี้ จะนำไปปลูกในพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง โดยวิทยาลัยเกษตรฯ ที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว 50 ไร่ และหากมีพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ต้องการให้มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 100 ไร่ โดยจะให้นักเรียนอาชีวะรับไปดูแลคนละ 1 ต้น ดำเนินการตั้งแต่การปลูกต้นไม้ และรับผิดชอบไปจนเรียนจบ ปวช. หรือ ปวส. เพื่อให้เติบโตควบคู่กันไป ภายใน 2 ปี ต้นไม้จะยืนต้น แตกกิ่งก้านใบต่อไป เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแผ่นดินไทย และยกระดับให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ การตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันการรักษาดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ จึงหวังว่าการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของป่าไม้ในไทยก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะนี่คือ ความมั่นคงทางอาหารที่จะส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

สำหรับกล้าไม้คุณภาพทั้งหมด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรเพื่อการพึ่งพากันเองบ้านห้วยหิน ดำเนินการเพาะกล้าไม้ 2 ประเภท จำนวน 30 ชนิด ประเภทไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ป่าอนุรักษ์ และไม้มีค่า เช่น ยางนา แดง พะยูง พะยอม มะค่าโมง มะค่าแต้ ตะเคียนทอง ประดู่ป่า มะฮอกกานี รัง กระบก สำรอง มันปู กฤษณา และกระบาก ประเภทไม้ป่าให้ผลและไม้ผลที่เพาะจากเมล็ด ได้แก่ คอแลน หรือลิ้นจี่ป่า มะพลับสวน มะกอกน้ำ ขนุน ตะขบป่า กระท้อน มะม่วงป่า หว้า ชะมวง

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แต่อาจจะยังไม่มีคนเจริญรอยตามเท่าที่ควร แต่เมื่อเผชิญปัญหาโควิด-19 ทำให้คนกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นแนวทางพึ่งพาตัวเอง ศธ. จึงสืบสานพระราชปณิธานนี้สู่สถานศึกษา รวมถึงส่งเสริมให้ทุกวิทยาลัยใช้พื้นที่ 1 ไร่ ทำเกษตรประณีต เพื่อสร้างรายได้ 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาทต่อเดือน และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งเชื่อมโยงการแนะนำการจัดการพื้นที่ตามทฤษฎีใหม่ วางแผนปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้มีรายได้ทุกวัน ตลอดปี ช่วยแก้จน แก้ปัญหาคนตกงาน เป็นต้น” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานยุทธศาสตร์นโยบาย รมช.ศึกษาธิการ, นายธนู ขวัญเดช รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ., นายชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวเกษตรและประมง สอศ., นางศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ., นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ., นางวันเพ็ญ บุรีสูงเนิน หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ศธ., นางนันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ., นายวรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท., นางสาวอารีย์ เหมเปา ตัวแทนสื่อมวลชน, ตัวแทนครู ผู้บริหาร และนักเรียนจากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ได้ร่วมกิจกรรมรับมอบกล้าไม้จากมูลนิธิฯ เพื่อส่งต่อให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 4 ภาค มอบให้สถานศึกษาทั่วประเทศต่อไป

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
17/11/2563