
เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 เวลา 11.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ Coding และการศึกษาเพื่อชีวิต ในโครงการพัฒนาผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี นายสัมนาการณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพุทธรักษา อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม





รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุหลักสูตร Coding ไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่จะช่วยพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะชีวิตให้กับเด็กรอบด้าน ได้แก่ การมีความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบและมีตรรกะ สามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงมีความเข้าใจภาษาดิจิทัล นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเริ่มจากการจัดการเรียนการสอนแบบ Unplug Coding คือ การเรียนโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกวัย (Coding for All, All for Coding) และสามารถต่อยอดความคิดไปสู่การพัฒนานวัตกรรม อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาให้ถึงตัวเด็กโดยตรง และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ทุกคนต้องได้รับการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดจนสามารถพึ่งตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ
โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมครูออนไลน์ หลักสูตรการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู Coding for Teacher (C4T) ภายใต้นโยบาย “การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน” ซึ่งมีครูเข้าร่วมอบรมกว่า 2 แสนคน และในระยะต่อไปจะดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครูขั้นสูง (Coding Online for Teacher Plus: C4T Plus) ซึ่งคณะกรรมการ Coding แห่งชาติ ก็ได้พิจารณาต่อยอดหลักสูตร Coding ให้ครอบคลุมประชากรไทยทุกคน อาทิ Coding for Farm ที่ใช้สำหรับในการเกษตร, Coding สำหรับผู้ตกงาน, แม่บ้าน และชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นการ Upskill และ Reskill ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคใหม่
ทั้งนี้ ในปัจจุบันแนวโน้มการจัดการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) มาใช้ในการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล พร้อมทั้ง ฝากให้ศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด ที่ได้รับการคัดเลือกใหม่ ระดมความคิดเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาในจังหวัดของตนเอง ให้มีความโดดเด่น สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับหลัก 4 มี ได้แก่ นักเรียนมีความสุข, ครูมีศักดิ์ศรี, ผู้ปกครองมีความสบายใจ และสังคมมีส่วนร่วม
โดยการจัดการศึกษาตามหลัก 4 มี นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการและครู ในการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียน และครูต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยประคับประคองให้เด็กเรียนสิ่งที่ชอบ และได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน รวมถึงเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย อาทิ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ประกอบการในจังหวัด เป็นต้น โดยมีส่วนร่วมทั้งในด้านเงินทุน เครื่องจักร เทคโนโลยี บุคลากร องค์ความรู้ หรือการจัดเป็นหลักสูตรทวิภาคี เพื่อให้เด็กมีทักษะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม “การศึกษายุคใหม่เด็กเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ ทำงานเป็น สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถช่วยเหลือครอบครัวและสังคมไทย และสังคมโลกต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว




















ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
17/9/2563