
เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแก่เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และการยกระดับการเรียนการสอนเกษตร สู่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน: STI ในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมี นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพรหมวิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายโชคดี ศรัทธากาล รองศึกษาธิการ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี นายเชาวลิต รนขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 จังหวัดปัตตานี นายสุรัตน์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาธิการพิเศษประจำจังหวัดปัตตานี นายทิว กาสิวุฒิ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับ
– โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 จังหวัดปัตตานี
รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้ลงพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 เป็นจุดแรก เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ มีเด็กความบกพร่อง และเด็กที่มีความยากจนและด้อยโอกาส โดยทราบดีว่าการศึกษาพิเศษนั้น ต้องได้รับการช่วยเหลือหลายด้าน อาทิ ความเป็นอยู่ การเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ และความเป็นมนุษยชน เป็นต้น
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้การดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการอบรมครูผู้ดูแลคนพิการ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการศึกษาพิเศษจากประเทศอังกฤษ และใช้หลักสูตรโค้ดดิ้งสำหรับคนพิการ โดยร่วมกับ สสวท. นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาทักษะ STEAM (Science Technology Engineering Art Mathematics) ที่มี แก่เด็กออทิสติกที่มีทักษะก้ำกึ่งเป็นเด็กอัจฉริยะมาช่วยพัฒนา นำไปในการฝึกอาชีพ และการศึกษาพิเศษต่อได้ ซึ่งคาดว่าเริ่มภายในเดือนกันยายนนี้ โดยจะเริ่มในโรงเรียนกลุ่มปัญญานุกูล 19 แห่ง ก่อนจะขยายผลไปยังสถานศึกษาสำหรับเด็กพิการอื่น ๆ ต่อไป
“ขอแสดงความชื่นชมแก่คุณครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่มีจิตสาธารณะ เสียสละ ทุ่มเท และมีความตั้งใจในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ ซึ่งเป็นงานที่ยาก แต่ทุกคนก็สามารถทำออกมาได้ดีอีกด้วย เห็นได้จากเครื่องการันตี คือ รางวัลการแข่งขันต่าง ๆ ที่ได้รับมามากมาย ขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คน และยินดีให้การสนับสนุนสถานศึกษาของการศึกษาพิเศษ ให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
– ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี
ต่อมาช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมธาราบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และการกายภาพ เป็นต้น พบว่าศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี ค่อนข้างมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และเครื่องมือต่าง ๆ อยู่พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสติปัญญา ต้องเริ่มจากการฝึกสมาธิแก่เด็ก จะทำให้เด็กสามารถรับการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไปได้ โดยอาศัยการฝึกฝน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทักษะ และประสิทธิภาพที่ดีต่อไป
พร้อมทั้ง ชื่นชมบุคลากรทุก ๆ คน ในความพยายาม ความอดทน และหัวใจของความเป็นครู ที่มีความตั้งใจสอนให้เด็กเหล่านี้สามารถปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างคุณภาพในอนาคต
– วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี
จุดสุดท้าย รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เพื่อติดตามการดำเนินงาน และการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี พร้อมกล่าวแสดงความชื่นชมในผลงานที่ได้รับรางวัลการแข่งขันต่าง ๆ มามากมาย เนื่องจากเป็นวิทยาลัยที่มีเทคโนโลยีการเกษตรและประมงแปรรูป และเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีความทันสมัยพอสมควร ที่สามารถทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน สามารถนำความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว ชุมชน จังหวัดปัตตานี และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ในอนาคต
สุดท้ายนี้ ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา นับเป็นพระเอกของการศึกษาไทย เนื่องจากเป็นการศึกษาที่มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ผู้เรียนจบแล้วมีงานทำ และทำงานเป็น เป็น Digital Smart Farmer และกำลังคนที่สำคัญแก่ประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตต่าง ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 ต่อไป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
23/7/2563