
เมื่อวันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้หารือการเจรจาทำข้อตกลงร่วมกันกับประเทศอาเซียน เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเกี่ยวข้องกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ รมช.คุณหญิงกัลยา กำกับดูแล ได้เห็นความสำคัญและอุปสรรคของการผลิตอาหาร และการปลูกพืชของไทย จึงได้เสนอแก่ที่ประชุม ให้พิจารณาควบคุม เร่งจดสิทธิบัตรพืช อาหาร และภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของไทย และไม่ให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ในแง่ของธุรกิจได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติช่วยเหลือคนตกงานที่จบปริญญาตรี จำนวน 10,000 คน โดยจ้างเดือนละ 18,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี รวมเป็นเงินกว่า 2.2 พันล้านบาท ซึ่งทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน หากได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) แล้ว มีตำแหน่งที่ว่างและต้องการคนมาทำงานในส่วนที่ขาดนั้น ก็สามารถเปิดรับสมัครจ้างผู้ที่ตกงาน เพื่อช่วยเหลือคนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไปได้
“กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ที่สถานีกลางบางซื่อ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก ไปแล้วกว่า 5,000 คน ซึ่ง ศธ. ตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา วันละ 5,000 คน จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ทันสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 วันที่ 14 มิถุนายนนี้ ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา จัดลำดับการฉีดวัคซีน ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ๆ ที่จะได้รับการฉีดวัคซีน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
8/6/2564