เสมา3 ชื่นชมสถานศึกษาปราจีนบุรี ตื่นตัวเตรียมการเปิดเทอมปีการศึกษา 63 เน้นการสร้างโอกาสและเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเท่าเทียม

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงสรุปผลการตรวจ ติดตาม นโยบายการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อความพร้อมในการเตรียมการเปิดเรียนของกสถานศึกษาในจังหวัดปราจีนบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ ว่า ได้รับรายงานถึงการทดลองจัดการเรียนออนไลน์ของสถานศึกษาทั้ง 3 แห่ง โดยสถานศึกษาและครูได้มีการติดต่อสื่อสารนักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตรียมจัดห้องเรียนรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ

 width=

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับรายงานการตรวจ ติดตาม นโยบายการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลปราจีนบุรี จัดการศึกษาระดับอนุบาล 1-ป.6 มีนักเรียน 1,763 คน, โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรง จัดการศึกษาระดับ ม.1-6 มีนักเรียน 3,306 คน และวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรีและวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดปราจีนบุรี อีก 6 แห่ง ซึ่งทุกสถานศึกษามีการตื่นตัวในการเตรียมการรองรับการเปิดภาคเรียนเป็นอย่างดี ทั้งการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนนักศึกษา การเยี่ยมบ้าน การจัดจุดนัดพบเพื่อรับมอบเอกสารการเรียน ใบงาน ตารางสอน ตลอดจนอุปกรณ์การเรียน พร้อมจัดให้มีการเรียนออนไลน์ตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน ผ่านรายการ DLTV, บทเรียนออนไลน์ที่ครูจัดทำขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

โดยได้มีการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การลดจำนวนนักเรียนและแบ่งกลุ่มสำหรับสลับมาเรียนที่โรงเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษา, การสำรวจความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, การจัดตารางเรียนภาคปฏิบัติให้อยู่ในวันเดียวกับการมาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน ของนักเรียนระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีสรุปข้อเสนอแนะจากการตรวจราชการ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาช่วงเปิดภาคเรียนหลายส่วน ได้แก่ การจัดการเรียนแบบผสมผสานอย่างเหมาะสม ระหว่างการเรียนในโรงเรียนกับการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ที่บ้าน โดยคำนึงถึงความสำคัญของมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด COVID-19, การสนับสนุนอุปกรณ์การสอน สัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียน ครู และบุคลากร ให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเท่าเทียม, การจัดระบบการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้เช่นกัน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ภาพถ่าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
10/6/2563