เสมา3 ลงพื้นที่สงขลาและพัทลุง ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย กศน.-การศึกษาเอกชน

เสมา3 ลงพื้นที่สงขลาและพัทลุง ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย กศน.-การศึกษาเอกชน

ลงพื้นที่/มอบนโยบาย กศน.ที่สงขลา

(11 ตุลาคม 2562) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายที่สำนักงาน กศน. ตำบลเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา โดยนายครรชิต กปิลกาญจน์ นายอำเภอกระแสสินธุ์ กล่าวให้การต้อนรับ

รมช.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการรับฟังได้เห็นถึงความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยได้รับรางวัลต่าง ๆ ที่เกิดกับผู้เรียนและองค์กร ถือเป็นความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นผลสะท้อนที่สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานเครือข่าย ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและดำเนินกิจกรรมของศูนย์การเรียนชุมชนและแหล่งเรียนรู้อื่นในรูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมและพัฒนาการนำเทคโนโลยีทางการศึกษาและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการศึกษา รวมทั้งการขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยอาศัยบุคลากรทุกคน โดยเฉพาะ ครู กศน. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ และมีความใกล้ชิดกับชุมชนในการประสานงานกับภาคีเครือข่าย ปราชญ์ชุมชน และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ

ศธ. ตระหนักดีว่าในการพัฒนาการศึกษา ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถ การทุ่มเท และเสียสละการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชุมชน แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย ในฐานะผู้กำกับดูแล กศน. ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ ขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ร่วมให้การสนับสนุนในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณทุกท่านที่ได้ช่วยกันพัฒนาการศึกษา พัฒนาประชาชนให้ชุมชนของเรามีความเข้มแข็ง สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นพลังในการขับเคลื่อนงาน กศน.ให้สำเร็จในก้าวต่อไป

นายธนกร เกื้อกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน กศน.มีผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่สอดคล้องกับนโยบาย รมช.ศธ.(กนกวรรณ วิลาวัลย์) 6 ข้อ ดังนี้

1) Good Teacher ครู กศน. ตำบล จัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) Good Place สภาพแวดล้อมสวยงาม สะอาด ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
3) Good Activities Digital Platform มีกิจกรรมที่ยืดหยุ่น หลากหลาย น่าสนใจ
4) Good Partnership มีภาคีเครือข่ายที่ดี สามารถทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
5) Good Innovation การจัดการความรู้ นวัตกรรม สิ่งใหม่ที่ทันสมัย
6) Good Learning Center ศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย

ในการนี้ รมช.ศธ.ให้เกียรติมอบเกียรติบัตร แก่เครือข่ายผู้ที่สนับสนุน กศน.อำเภอกระแสสินธุ์ ดีเด่น 7 รางวัล ดังนี้

1) อบต. เกาะใหญ่ : สนับสนุนด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น
2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแหลมหาดใหญ่ : สนับสนุนด้านการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยดีเด่น
3) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไร่ : สนับสนุนด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตดีเด่น
4) นายภิญโญ เปียคง : คณะกรรมการสถานศึกษาดีเด่น
5) นางสาววนิดา ปาณะศรี : วิทยากรด้านอาชีพดีเด่น
6) นายมฤตย์ ไกรสุรสีห์ : วิทยากรด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น
7) นายสมนึก มีปิด : วิทยากรด้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น

และยังได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษากศน. อำเภอกระแสสินธ์ ที่เรียนดีแต่ยากจน จำนวน 3 ทุน ดังนี้ คือ นายศรัณย์ แก้วนพรัตน์ กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, นางสาวสุทธิดา เพชรจำรัส กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และนายปฏิหารย์ สุกแดง กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ลงพื้นที่/มอบนโยบายการศึกษาเอกชน ที่พัทลุง

ต่อมาเวลา 14.00 น. รมช.ศธ. และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่โรงเรียนวีรนาทศึกษา จ.พัทลุง เพื่อเยี่ยมชมและมอบนโยบาย โดยมีนายศิลป์ชัย รามณีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวให้การต้อนรับ

รมช.ศธ. กล่าวว่า เนื่องจากท่านทั้งหลายมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ขอชื่นชมผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

ศธ.ได้กำหนดนโยบายสำคัญหลายประการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนโดยมีนโยบายที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. เพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน จากไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอ โดยจะเริ่มเบิกจ่ายตามเพดานค่ารักษาพยาบาลใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
  2. จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายของ ศธ. ปี 2562 ให้ สช. จำนวน 23 ล้านบาท เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนตามนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ 5 เรื่อง ได้แก่ 2.1) การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ปฐมวัย 2.2)การจัดการเรียนรู้วิชา Coding 2.3) การใช้ภาษาอังกฤษบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (EIS : English Integrated Study) 2.4) การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด 2.5) การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล โดยกำหนดจัดอบรมตามเขตพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาคและกทม. ระหว่างวันที่ 26 กันยายนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2562
  3. ผลักดันงบประมาณปี 2563 เพื่อพัฒนาผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนจำนวน 111 ล้านบาท (งบพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน 111,172,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 12.5 ล้านบาท) ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะใช้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญ ได้แก่ การอบรมผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ และส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียนในระบบและนอกระบบ
  4. ส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือจิตอาสา และลูกเสือมัคคุเทศก์ของโรงเรียนเอกชน โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
  5. แก้ไขปัญหาการค้างจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน โดยปกติ สช. จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้มีการค้างจ่ายเงินอุดหนุนกับโรงเรียนเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน และการจ่ายเงินเดือนครู จึงมีนโยบายให้มีการเกลี่ยงบประมาณภายใน ศธ. เพื่อช่วยเหลือนักเรียน ครู และโรงเรียนเอกชน สำหรับปีงบประมาณนี้ได้เกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงานอื่นให้ สช. จำนวน 250 ล้านบาท จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2562 สามารถเบิกจ่ายเงินอุดหนุนได้ครบตามจำนวนและไม่ให้มีการค้างจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียน
  6. ให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบอุทกภัย จำนวน 20 โรงเรียน โดยมอบหมาย สช. ลงพื้นที่เพื่อมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นโรงเรียนละ 10,000 บาท และสมาคม ปส.กช. ร่วมสมทบอีกโรงเรียนละ 5,000 บาท
  7. แข่งขันทักษะวิชาการ (นักเรียนเกรดอ่อน) ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาทักษะของนักเรียนตามความถนัดของโรงเรียนเอกชนทุกประเภทต่อสาธารณะ
  8. นำเสนอ Best Practice เช่น โรงเรียนพลังงานต้นแบบ (ศรีแสงธรรม)
  9. ศึกษาแนวทางการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนร่วมกับ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

หวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ได้ร่วมผลักดันในวันนี้จะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญร่วมกันในการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป โดย ศธ.จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว

นางกัลยา ขาวดี คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) จังหวัดพัทลุง กล่าวรายงานว่า การจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนจังหวัดพัทลุงนั้น จังหวัดพัทลุงมี 11 อำเภอ ซึ่งจัดการศึกษาในระบบประเภทสามัญศึกษา จัดการศึกษา 4 ระดับ คือ ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษามีทั้งหมด 40 โรงเรียน บุคลากรโรงเรียนเอกชนในระบบจำนวน 670 คนและจำนวนนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระบบจำนวน 12,686 คน โรงเรียนเอกชนนอกระบบทั้งหมด 59 โรงเรียน บุคลากรโรงเรียนเอกชนนอกระบบจำนวน 118 คน อยู่ในการดูแลและให้การสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพัทลุง

ภาพรวมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนนั้น เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐ ทำให้รัฐสามารถประหยัดเงินงบประมาณในการลงทุนด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก โรงเรียนเอกชนส่วนมากอยู่ในแหล่งชุมชน อำนวยความสะดวกโดยมีรถรับ-ส่งนักเรียนเดินทางไป-กลับมีครูอำนวยความสะดวกในรถโรงเรียนทุกคันสอบถามความต้องการของผู้ปกครองเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด นี่คือความมีคุณภาพของครูเอกชน

โรงเรียนมีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้จัดกิจกรรม Active Learning การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวของสเต็มศึกษา ที่มีการพัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้สู่นวัตกรรม รวมถึงกิจกรรมบูรณาการที่หลากหลาย การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของสถานศึกษาให้น่าอยู่ เอื้อต่อการเรียนรู้ การพัฒนาครูมุ่งให้ทุกคนมีความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบเพื่อพัฒนานักเรียนจนเกิดผลลัพธ์ ส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนมีผลทดสอบระดับชาติ (O-Net) สูงกว่าระดับประเทศ มีผลงานชนะเลิศงานศิลปหัตถกรรมระดับประเทศ

ขอบคุณ รมช.ศธ.ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาครูเอกชนให้มีทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยสอดคล้องกับการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจัดสรรงบประมาณให้ครูเอกชนได้รับการอบรมพัฒนาทักษะความรู้และความสามารถ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ 5 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ปฐมวัย การจัดการเรียนรู้วิชา Coding การใช้ภาษาอังกฤษบูรณาการ จัดกิจกรรมการเรียนการสอน (EIS) การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด และพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล หวังเป็นยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการศึกษาเอกชนอย่างมีคุณภาพต่อไป.

Top