พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามกลไกประชารัฐ ครั้งที่ 8/2561 จัดโดยสำนักงาน คปต.ส่วนหน้า
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การประชุมนี้เกิดจากแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมประสานงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ตามกลไกประชารัฐ โดยมอบหมายให้หัวหน้าและผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ อีก 12 ท่าน ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงการทำงานไปยังคณะรัฐมนตรีและการบริหารราชการส่วนกลาง เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาและประสานงานให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นสังคมสันติสุขและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากความระลึกถึงมายังนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน หากมีโอกาสจะเดินทางมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง พร้อมยังได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่า มีความห่วงใยเป็นพิเศษเกี่ยวกับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงขอให้ทุกภาคส่วนพยายามดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ตระหนักถึงอันตราย ความเสียหาย หรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ฝากความระลึกถึงประชาชนทุกคน และขอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลประชาชนอย่างเข้มแข็ง พร้อมย้ำถึงความปลอดภัยของประชาชนในการสัญจรทั้งบนถนนสายหลักและถนนสายรองในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้
ในส่วนของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมที่จะให้ของขวัญแก่ประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล “สร้างความสุขสู่ชายแดนใต้” กล่าวคือ การเปิดโอกาสทางการศึกษาใน “โครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งสืบเนื่องมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในประเด็นความก้าวหน้าการทำงานด้านความมั่นคงในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 68.33 ประกอบกับสามารถแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษาชายแดนใต้ นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว่า 27,376 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 60
จึงต้องการที่จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาประชารัฐ ในลักษณะอยู่ประจำ พร้อมจัดที่พักนอน ความปลอดภัย อาหารครบ 3 มื้อ และอุปกรณ์ความจำเป็นต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 64 โรงเรียนใน 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานศึกษาอาชีวศึกษาประชารัฐสังกัด สอศ. 4 วิทยาลัย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา, วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา และวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 4,000 คน
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีความก้าวหน้าการปฏิบัติภารกิจและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่ของผู้แทนพิเศษของรัฐบาลทั้ง 7 กลุ่มภารกิจที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
การเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคหัด
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์โรคหัด (ไข้ออกผื่น) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561-ปัจจุบัน ว่าจำนวนผู้ป่วยและการระบาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 7 เดือน – 2 ปี 6 เดือน ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภาวะทุพโภชนาการและมีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยลดลงมากแล้ว เหลือเพียงส่วนน้อยในบางอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างการรับรู้และทัศนคติที่ถูกต้องต่อการรับวัคซีนป้องกันโรค ทำให้มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น โดยต่อจากนี้มีข้อเสนอแผนงานและเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเด็กอายุ 0 เดือน – 5 ปี ทุกรายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทั้งวัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคโปลิโอ และวัคซีนรวมอื่น ๆ เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาราคายางและพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงภาพรวมพื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีพื้นที่รวมทั้งหมด 13.2 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ทางการเกษตร 7.7 ล้านไร่ คิดเป็น 59.02 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมกว่า 4 แสนครัวเรือน โดยมียางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาราคายางและพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงได้มีโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของหน่วยงานภาครัฐ โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำยางพารามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำถนน พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในเรื่องของปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพ ใน 2 ส่วน คือ 1) เกษตรกรชาวสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ (รายละไม่เกิน 15 ไร่) แบ่งเป็นการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต 800 บาทต่อไร่ และสนับสนุนปรับปรุงคุณภาพผลผลิต 300 บาทต่อไร่ และ 2) ค่าครองชีพคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ (รายละไม่เกิน 15 ไร่)
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอื่น ๆ ได้แก่ โครงการสร้างความเข้มแข็งชาวสวนปาล์ม โดยช่วยเหลือค่าครองชีพให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่มีปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้วตามพื้นที่ปลูกจริงในอัตราไร่ละ 1,500 บาท (ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่) พร้อมส่งเสริมการปลูกปาล์มพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มคุณภาพ, การสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม โดยการช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตและการตลาด, มาตรการการช่วยเหลือในการกระจายสินค้าและแปรรูปปลากุเลา พร้อมเตรียมที่จะจัดตั้งกลุ่มและหาแหล่งทุนให้ด้วย, มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชัง เป็นต้น
ผลการดำเนินงานด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อื่น ๆ ดำเนินการภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” โดยมีความก้าวหน้าในหลายส่วน อาทิ การรวมกลุ่มของเกษตรกรแปลงใหญ่ เพื่อการเจรจาต่อรอง และการรวมกลุ่มพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ และการประมง พร้อมพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้สามารถปรับตัวจากผู้ผลิตเป็นผู้ประกอบการ การจัดโซนนิ่งเพื่อเพาะปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มมูลค่า การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP และสินค้าปลอดภัย การผลิตข้าวครบวงจร การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันต์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดำเนินการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไปแล้วกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 5.7 แสนล้านบาท โดยมีการชำระและปิดบัญชีแล้วกว่า 8 แสนราย และยังเหลือผู้กู้ในระบบรวมทั้งสิ้น 4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้กู้ยืมสถานะปกติกว่า 1 ล้านราย และผู้กู้ยืมสถานะผิดนัดชำระกว่า 2 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะให้การดูแลผู้กู้ทุกคน ทั้งผู้กู้ยืมที่ไม่เคยผิดนัดชำระและผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ออกระเบียบเพื่อให้สิทธิสำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ (ผู้กู้ยืมชั้นดีหรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้) สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีก่อนกำหนด เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนเงินต้น 3% ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ในส่วนของผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ออกมาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีเพิ่มเติมสำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ทุกราย โดยจะลดเบี้ยปรับให้ 85% ของเบี้ยปรับ ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2561 – 31 พ.ค. 2562 เนื่องจากกองทุนเห็นว่ามีผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจำนวนไม่น้อย ที่มีความต้องการจะปลดภาระหนี้ของตน แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะเบี้ยปรับที่เกิดจากการค้างชำระหนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ กยศ. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้กู้ยืม กยศ. และ กรอ. ด้วยระบบ QR Code เพื่อชำระเงินใน 2 รูปแบบ คือ แบบ Static QR โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านบริการ KTB netbank และเลือกประเภทกองทุนที่ต้องการชำระหนี้คืน และแบบ Dynamic QR เป็นการสแกนคิวอาร์โค้ด ผ่าน www.studentloan.ktb.co.th หรือ www.studentloan.or.th ด้วยโมบายแบงก์กิ้งแอพลิเคชั่นทุกธนาคาร
ในส่วนของพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ “องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงานของพนักงานและลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน” นั้น จะเริ่มดำเนินการกับผู้กู้ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ (ปกติ), ผู้กู้ยืมที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดี และผู้กู้ยืมที่ทำสัญญาประนีประนอมความในศาล (พิพากษาตามยอม) โดยยอดหนี้ที่ผู้กู้ยืมจะต้องชำระในงวดวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ซึ่งต้องนำมาหักเงินเดือนนั้น กองทุนจะนับระยะเวลาการหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – มิถุนายน 2562 รวม 7 เดือน และในงวดปีถัดไป จะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยกองทุนจะแจ้งหักเงินเดือนโดยใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วยจำนวนเดือน (12 เดือน) ทั้งนี้ การหักเงินเดือนทุกครั้ง ผู้กู้ยืมจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมลดยอดหนี้
ยืนยันว่าที่ผ่านมา กยศ. พยายามที่จะดูแลและช่วยเหลือผู้กู้ที่ค้างชำระทุกคนอย่างละมุนละม่อม โดยมีขั้นตอนการติดตามหนี้สินเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การส่งหนังสือแจ้งภาระหนี้ การส่งหนังสือติดตามทวงถามหนี้ค้าง การส่งข้อความเสียงทางโทรศัพท์ การเจรจาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทางโทรศัพท์ หากยังไม่ชำระหนี้จนมีหนี้ค้างชำระหลายงวด จึงจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน โดยผู้กู้สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และได้โอกาสในการผ่อนชำระหนี้ต่อไปอีกเป็นเวลา 9 ปี จากนั้นยังไม่ชำระหนี้และศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้แล้ว กองทุนฯ ก็ยังจะดำเนินการติดตามให้ชำระหนี้ โดยสามารถขอผ่อนชำระหนี้ได้อีกครั้ง แต่หากไม่ชำระหนี้อีก กองทุนจึงจะขอศาลในการส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อทำการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันเพื่อนำมาขายทอดตลาดต่อไป
Photo Credit