เสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีม

จังหวัดนครราชสีมา – กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.Group) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาและทีมงาน ครั้งที่ 4 ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีม “รวมพลังสร้างสรรค์ทีม” (The Synergy Teamwork for education: Transformation Ministry of Education in collaboration with C.P. Group) ภายใต้คอนเซ็ปท์ “MOE One Team” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีมให้เกิดพลังขององค์กร (Synergy) รวมทั้งเพื่อพัฒนาทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผล (Effective Team Building Skill) ตลอดจนทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในศตวรรษที่ 21 (Essential Leadership Skills in the 21st Century) โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน/ครูวิชาการ และครู ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมในรุ่นนี้ 20 Cluster แยกเป็นส่วนกลาง 18 เขตตรวจราชการ/การศึกษาพิเศษ จำนวน 60 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2560 ณ สถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.Leadership Institute หรือ CPLI) อำเภอปากช่อง



เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับฟังผลการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 8 กลุ่มในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมทั้ง 60 คน


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีม “รวมพลังสร้างสรรค์ทีม” หรือ MOE One Team ครั้งที่ 4 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับ  C.P.Group ซึ่งต่อเนื่องมานับตั้งแต่การอบรมครั้งแรกที่ได้จัดการอบรมแก่ผู้บริหารระดับ Top Team กว่า 80 คน ของทั้งสององค์กร คือ ระดับ 10-11 ของกระทรวงศึกษาธิการ และระดับสูงสุดของ C.P.Group ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2559 เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสุดทั้งสององค์กรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านรูปแบบ Action Learning หรือการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง


จากนั้น จึงได้มีการอบรมกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน/ครูวิชาการ และครูที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าอบรม 20 Cluster จาก 18 เขตตรวจราชการและการศึกษาพิเศษ จำนวน 60 คน อีกจำนวน 3 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคมปีที่ผ่านมา, ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2560 รวมทั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการ โดยมีวิทยากรระดับโลกมาให้ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผล (Effective Team Building Skill) ตลอดจนทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในศตวรรษที่ 21 (Essential Leadership Skills in the 21st Century)


สำหรับการอบรมครั้งนี้ ได้มีการรับฟังแต่ละกลุ่มนำเสนอ Project ต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มได้ร่วมคิดร่วมวางแผนดำเนินการในโรงเรียนของตนเอง เช่น การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาสถานศึกษา การพัฒนาภาษาอังกฤษ การแบ่งปัน Best Practices การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน เป็นต้น


โอกาสนี้ นพ.ธีระเกียรติ ได้กล่าวขอบคุณ C.P.Group ที่ให้โอกาสกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงแรกที่ได้เริ่มต้นทำงานครั้งสำคัญด้วยกัน ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 60 คนที่ได้รับการพัฒนาจากวิทยากรระดับโลก และไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้นำของ C.P. เพราะการเป็นผู้นำที่ดีไม่ใช่เพียงมาเรียนในห้องเรียน แต่ต้องฝึกฝนเรียนรู้ให้มี Character หรือบุคลิกนิสัยใจคอในการเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้นำต้องคิดและตัดสินใจให้ก้าวไปไกล ๆ จึงฝากให้เรียนรู้การตัดสินใจของผู้บริหารที่มีชื่อเสียง อาจจะคิดถูกผิดหรือแตกต่างจากเราก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราจะได้เห็นวิธีการคิดของเขาเหล่านั้น


นอกจากนี้ ได้ฝากให้ผู้เข้าอบรมที่ได้รับโอกาสเข้าอบรมในหลักสูตรดี ๆ ระดับโลกครั้งนี้ด้วยว่า “เมื่อท่านได้มาก สังคมก็ต้องคาดหวังจากท่านมาก ท่านจึงต้องตอบแทนสังคมมากเช่นกันด้วย” ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนแนวคิดของแต่ละกลุ่มในการพัฒนาสถานศึกษาของตนเองด้านต่าง ๆ ตามที่ต้องการ โดยขอให้ส่งโครงการในการพัฒนาสถานศึกษาภายในวันที่ 10 กันยายนนี้ เพื่อ สพฐ. และ C.P.Group จะพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร และร่วมกันพัฒนาโรงเรียนตามแนวทางที่วางไว้ต่อไป



นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ประสบการณ์และความรู้ของตนที่สะสมมาในยุค 3.0 ตอนนี้ยังสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ เพื่อนฝูงของเราในยุคนี้สามารถเพิ่มมาได้จากทั่วโลกแม้ไม่ได้รู้จักกันก็ตาม แต่ก็สามารถทำงานด้วยกันได้  ‘4.0 คือโลกที่ไม่สิ้นสุด’ และในโลกของยุค 4.0 บางสาขาอาชีพจะใช้คนน้อยลง เช่น ธนาคาร เพราะจะใช้ e-Banking กันมากขึ้น นอกจากนี้โลกเราจะมีอาชีพเกิดใหม่ที่เราคิดไม่ถึงอีกมากมาย เช่น อาชีพซ่อมบำรุงจะเกิดขึ้นเยอะ เพราะยิ่งใช้อุปกรณ์มาก ยิ่งต้องดูแลบำรุงรักษามาก  รวมทั้งบริการจากอาชีพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายต่อไป ก็คือ ธุรกิจประเภทบริการ โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว หุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่อประเทศ


ขอขอบคุณความร่วมมือโครงการนี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) จนถึงรัฐมนตรีปัจจุบันที่ให้เกียรติร่วมมือโครงการ ซึ่ง C.P. พร้อมให้การสนับสนุนโครงการดี ๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อไป เพราะ C.P. ถือว่าการสร้างคนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของโลก



นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า แม้อาชีพอื่น ๆ อาจจะมีความต้องการกำลังคนลดลง แต่อาชีพ ‘ครู’ ยังมีความจำเป็น เพราะ ‘ต้องใช้คนในการสอนคน’ ระบบการศึกษาควรมี Learning Center ให้มากขึ้น ส่วนสาขาที่เป็นความจำเป็นต่อไปในอนาคตคือ ICT และวิศวกรรม ดังนั้น Learning Center ต้องให้ความรู้พื้นฐานทั้ง 2 สาขาวิชานี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพใดในชุมชนเราก็ตาม ทุกเรื่องสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเรื่องนั้น ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้แนวทางวิธีการพัฒนานวัตกรรมนั้น ๆ เพราะการสอน ICT ให้เด็กมีความเชี่ยวชาญ ต้องส่งเสริมพัฒนาตั้งแต่เด็ก


ทั้งนี้ C.P. เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง จะมี 4 เรื่องหลักที่เกี่ยวข้อง คือ
   1) ข้อมูลความต้องการของตลาด
  ในส่วนของ ศธ.ก็จะเป็นผู้ปกครอง ระบบสังคม ข้อมูลของเด็ก แต่การจัดทำข้อมูลที่ดีนั้น ความเร็วและคุณภาพต้องไปด้วยกัน
   2) สร้างความฝัน
 ต้องไม่มีอะไรที่คิดว่าเราทำไม่ได้ และการวางเป้าหมายในแต่ละห้วงเวลาและเป็นระยะ ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ
   3) การพัฒนาผู้นำ  ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
   4) ตัวชี้วัด 
ซึ่งเปรียบเสมือนกระจกส่องตัวเรา เพราะอะไรก็ตาม หากไม่สามารถวัดผลได้อย่างมีคุณภาพ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ที่สำคัญเมื่อวัดได้แล้ว ก็ต้องมีความต่อเนื่องด้วย


สิ่งสำคัญนอกเหนือจาก 4 ข้อข้างต้นคือ “ต้องมีใจ” จึงฝากผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านอย่าละความตั้งใจที่ท่านให้ไว้



นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ถือเป็นความโชคดีของครูและผู้บริหารโรงเรียน 20 โรงเรียน จำนวน 60 ท่านที่เข้าอบรมรวม 3 ครั้งจนจบหลักสูตร ความคาดหวังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ 60 ท่านจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาผู้นำของ สพฐ. และประเทศในอนาคต โดย สพฐ.จะสนับสนุนแนวทางการพัฒนาโรงเรียน 20 แห่งนี้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่แต่ละโรงเรียนได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมกับวิทยากร มาเป็นเวลานานกว่า 9 เดือน



นางสาวคาดียะห์ อามานะกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านธารน้ำใส กล่าวว่า ในนามตัวแทนของผู้เข้ารับการอบรม ขอขอบคุณวิทยากรจากต่างประเทศที่เดินทางมาให้ความรู้และเทคนิคในการบริหารงาน รวมทั้งคณะผู้บริหาร C.P. และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้โอกาสเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ที่ได้รับไปพัฒนาโรงเรียนของตนเอง และมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของชาติต่อไป



บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
20/8/2560