เสวนาทิศทางการพัฒนาหลักสูตร

การเสวนา 6 ทศวรรษคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาวิชาการ 6 ทศวรรษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ตกผลึกความคิด 6 ผู้นำการศึกษาทิศทางการพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของไทย .. จะไปทางไหนดี?” เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องประชุมรำไพ สุจริตกุล, อาคารพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้นำทางการศึกษาของโลก จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรครูอยู่ตลอดเวลา เมื่อนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ ทิศทางของหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันคือ ต้องเน้นการฝึกปฏิบัติให้มากขึ้น แม้แต่วงการแพทย์ทั่วโลกในขณะนี้ได้เริ่มให้นักศึกษาแพทย์ฝึกคลินิกตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แล้ว และจากการหารือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยอมรับว่าการแพทย์ของไทยดีมาก แต่รู้สึกแปลกใจที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่ค่อยดีนัก


ดังนั้น สิ่งสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย จึงต้องเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติ (Practice) มาก่อนทฤษฎี (Theory) และสิ่งสำคัญคือการสรรหาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่ดี โดยผู้บริหารถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านต่างๆ แม้แต่ผู้นำของประเทศและผู้นำทางการศึกษาที่เข้มแข็งของสิงคโปร์ เช่น ลีกวนยู มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและการศึกษาของสิงคโปร์จนถึงวันนี้


สำหรับลำดับความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษานั้น ต้อง Focus ไปในบางเรื่องที่จำเป็น เช่น ความรับผิดชอบ (Accountability) การวัดและประเมินผล (Assessment) หรือแม้แต่เรื่องภาษาอังกฤษ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการในเวลานี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำเสมอว่า เราจะทำอะไรให้เป็นนานาชาติ แต่ก็ต้องไม่ลืมความเป็นไทย


นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การดำเนินงานที่สำคัญของ สพฐ. ขณะนี้หลายเรื่องมีความก้าวหน้าและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น STEM ศึกษา, การกำหนดมาตรฐานครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้น ม.3 ด้วยการจัดสอบ, นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อเน้นให้เด็กเรียนรู้ในห้องเรียนน้อยลง และมีเวลาพัฒนาทักษะชีวิตให้มีภูมิคุ้มกันตัวเองในยุคสังคมปัจจุบัน ซึ่งเน้น 4H คือ Head Heart Hand Health โดยเมื่อนำร่องโครงการในปีแรก ก็พบว่าเด็ก ครู ผู้ปกครองต่างก็มีความสุขและลดความเครียดในการเรียนเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีปัญหาบางฐานที่ต้องเร่งพัฒนา คือ Hand ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติและสัมผัสอาชีพต่างๆ เพื่อเตรียมอาชีพตัวเองในอนาคต รวมทั้ง Head ที่เป็นทักษะการฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ แต่ก็ยังพบปัญหาครูผู้สอนยังไม่มีทักษะที่จะสอนให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ดี


สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จการจัดการศึกษานั้น นอกจากจะต้องเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการแล้ว ต่อไปจะต้องเน้นไปที่การบริหารงานวิชาการให้มากขึ้นด้วย


อีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญ คือ โรงเรียนประชารัฐ ที่จะมีการพัฒนาผู้บริหารและครูผู้สอน โดยเน้นหลักสูตรการพัฒนาครูให้รู้ครบเครื่องทั้งเรื่องการหลักสูตรการศึกษา สื่อ เทคโนโลยี สื่อการเรียนยุคดิจิทัล และการเป็นผู้บริหารและครูมืออาชีพ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาด้านหลักสูตรกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งการตลาดกับผู้ปกครอง การตลาดกับชุมชน เพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาเป็นพลังและมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา


ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นการพัฒนาทั้งผู้บริหาร ครู และหลักสูตร เพื่อให้ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาให้มากที่สุด


ศาสตราจารย์กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับ “ความเป็นครู” ว่า หากความเป็นครูลดลงไปจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องทบทวนขนานใหญ่ในการวางแผนระบบการผลิตครูที่ดี ในส่วนของผู้นำก็เช่นกัน หากเรามีรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำทางการศึกษาที่รู้เรื่องและเข้าใจเรื่องการศึกษาเช่นในปัจจุบัน ก็จะมีส่วนสำคัญต่อคุณภาพครูและการพัฒนาการศึกษา และสิ่งที่สอดคล้องกับแนวความคิดของ รมช.ศึกษาธิการ คือ การเน้นหลักสูตรฝึกปฏิบัติให้มากขึ้น รวมทั้งหลักสูตรการผลิตครู ซึ่งส่วนตัวต้องการให้เป็นหลักสูตร 6 ปี คือ 4+2 คือสอนเนื้อหา 4 ปี


เมื่อกล่าวถึง สิงคโปร์ ถือว่าเป็นประเทศมีมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานดีที่สุดในโลก เพราะได้กำหนดมาตรฐานไว้หลายเรื่อง ทั้งมาตรฐานชาติ มาตรฐานนานาชาติ ใช้ความดีเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สภามหาวิทยาลัยของไทยบางแห่งกลับไม่มีธรรมาภิบาล


ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ กล่าวว่า สังคมไทยยังคงมีปัญหาหลายเรื่อง แต่เราอย่าจมปลักอยู่กับปัญหาต่างๆ จนท้อถอย เพราะในปัจจุบันเราต้องการคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งครูผู้สอนก็เช่นกัน  จำเป็นต้องรู้นวัตกรรมก่อนที่จะไปสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นเราก็จะใช้แต่นวัตกรรมที่ผู้อื่นสร้างขึ้น ยิ่งสมัยนี้เรามีผู้เรียนที่ไม่เก่งและไม่อยากเรียนจำนวนมากกว่าผู้เรียนที่เก่งและอยากเรียน ครูจึงสอนคนที่ไม่อยากเรียนได้ยากกว่าสอนคนที่อยากเรียน


สำหรับกติกาของกระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้ ล้วนแต่มีกติกาที่ส่งเสริมให้ครู ผู้บริหาร เป็นนักล่ารางวัล จึงจะเห็นครูพยายามขายเด็กเก่งและมีความพร้อมเพื่อให้ได้รับรางวัล, ซึ่งความจริงรางวัลมีได้ แต่ควรเป็นรางวัลที่ให้สำหรับครูที่พัฒนาเด็กอ่อนให้เก่งได้


ส่วนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กนั้น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็ต้องหาวิธีการสอนในการควบรวมหรือบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวง และการจัดทำหลักสูตรของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็ต้องคิดเพื่อเป้าหมายอนาคตใน 20 ปีข้างหน้า เช่น อันดับความสามารถของประเทศในการแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือการเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องพิจารณาการจัดทำหลักสูตรให้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน


ในเรื่องของปรัชญาหลักสูตรนั้น ที่ผ่านมาเป็นจุดอ่อน เพราะเรากำหนดเป็นเพียงจุดมุ่งหมาย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีเขียนใหม่ โดยกำหนดปรัชญาหลักสูตรว่าเราต้องการคุณลักษณะผู้เรียนว่าต้องการผลิตเป็นแบบใด


รองศาสตราจารย์มนตรี แย้มกสิกร กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาหลักสูตรคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ว่า ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ในกระบวนทัศน์การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ และครูมิใช่ผู้มอบความรู้ แต่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่สำคัญคือครูต้องเป็นผู้นำทางสังคม ไม่ใช่ตามสังคม


ดังนั้น “ครูในอนาคต” จึงควรสอดคล้องกับการศึกษายุคปัจจุบันที่เป็น Education 4.0 ควรมีกระบวนการคิด มีเครื่องมือเทคโนโลยีทั้งหลาย มีการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง และมีสมรรถนะความเป็นครูมืออาชีพ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันไม่เป็นการเรียนรายวิชาแล้ว แต่จะเป็นการเรียนข้ามศาสตร์ เช่น STEM ที่มีการบูรณาการวิชาที่หลากหลาย, จิตวิทยาต้องมารวมกับหลักสูตร Module ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าคิดในเวลานี้คือ “ครูไทยเก่งๆ เยอะ แต่ 4 โมงเย็นไปสอนพิเศษ”


ทั้งนี้ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องมีส่วนรับผิดชอบโรงเรียน ต้องลงไปผูกพันร่วมมือกับโรงเรียนหรือกลุ่มโรงเรียนอย่างแข็งขัน ไม่ใช่เพียงส่งเด็กไปฝึกสอนแล้วกลับมา ทั้งนี้เพราะจะมีผลกับการผลิตครูประจำการ และต้อง “รู้ร้อนรู้หนาว” กับผลการศึกษาที่ไม่ดีของประเทศด้วย เพราะฉะนั้นต้องผูกโยงกับการพัฒนาและดูแลโรงเรียนในพื้นที่ อาจารย์มหาวิทยาลัยจะยอมลงไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับโรงเรียนไหม เพราะอาจารย์จบใหม่ๆ จำนวนมาก แต่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน


เราจึงต้องรื้อความคิดใหม่ เพื่อให้เป็นการเรียนการสอนแบบมีความหมาย


รองศาสตราจารย์ นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรครู ต้องปรับเปลี่ยน 4 ข้อ คือ 1) คนรับผิดชอบอนาคตคือครูของครู ซึ่งก็คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) เต็มที่ ต้องออกแบบหลักสูตรให้ดี โดยมี Level การสอนในระดับปริญญาตรีทั้งการสอนทั่วไป และอีก Level ที่เป็น Specialist เฉพาะเรื่องของครู  2) ต้องหา Role Model ครูของครูออกมาให้ได้ เช่น พระราชบิดาของวงการศึกษาไทย หรือ มล.ปิ่น มาลากุล ฯลฯ เพราะจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่เราสอนครูออกไปได้ นอกจากนี้ ควรคำนึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ต้องแน่นแฟ้น ไม่สอนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่ครูต้องดูรอบๆ ตัวเด็ก  3) อัตราการผลิตครู ขณะนี้เราผลิตครูมากกว่า 2 เท่าที่เราต้องการ ส่งผลถึงคุณภาพ จึงฝากให้ศึกษาความต้องการอัตรากำลังครูให้ชัดเจน เพื่อวางแผนการผลิตและแบ่งภาคการผลิตให้ชัดเจน ครูของครูจึงต้องมารวมตัวกัน  4) ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กำหนดทิศทางการพัฒนาครูอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ลงไปคลุกคลีกับครูมากที่สุด




บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
13/7/2559
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ