เสวนาวิชาการ 100 ปี จุฬาลงกรณ์
รมช.ศธ.ปาฐกถาพิเศษ “บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต”
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต” ในงานเสวนาวิชาการ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร อาคารมหาธีรราชานุสรณ์
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า
1) การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และการลงทุนที่เจาะจงทักษะ เพื่อเป็นการตั้งมาตรฐานในการลงทุนเรื่องของคน เช่น การคิดวิเคราะห์ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำรูปแบบของ STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering, Mathematics) เป็นการประยุกต์วิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน คือ จำได้ (Recall), เข้าใจ (Comprehend), ประยุกต์ใช้ (Apply), วิเคราะห์ (Analyze), สังเคราะห์ (Synthesize) และประเมินผล (Evaluate)
ดังนั้น หากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กระบวนเรียนยังไม่ดีพอ ผลการเรียนรู้ก็จะออกมาไม่ได้ จึงส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กไทย ม.6 ทั่วประเทศ มีคะแนนเพียง 24% เนื่องจากยังมีพื้นฐานไม่ดีพอ นอกจากนี้ จากการวิจัยผู้ที่จบการศึกษาแล้ว มีงานทำและมีเงินเดือนต่างกัน พบว่ามีการใช้ทักษะของ STEM มากกว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และในขณะเดียวกันทักษะทางสติปัญญา (IQ) และทักษะทางอารมณ์ (EQ) จะช่วยให้สามารถทำงานได้นานกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมคนให้ถูกก่อน อย่าลงทุนแบบไม่ได้ผลสัมฤทธิ์
2) ประเทศที่เจริญจะต้องการมีการแข่งขันอย่างเสรี ไม่เข้าไปควบคุม (Market Friendly Environment) โดยเฉพาะหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าการควบคุมกับการออกนโยบายมีความแตกต่างกันหรือไม่ เช่น สถาบันอุดมศึกษาต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลดการใช้อำนาจควบคุม สิ่งใดควรจบที่สภาสถาบันอุดมศึกษาก็ควรเป็นเช่นนั้น, มหาวิทยาลัยควรมีอิสระในการออกหลักสูตร และ สกอ.ควรรับทราบหลักสูตรมิใช่รับรอง เป็นต้น หากไม่มีการควบคุมจะมีทั้งของดีและของไม่ดีเกิดขึ้น
3) มีระบบการเงินการคลังที่มั่นคง ที่จะต้องมีความเสถียรภาพมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
ในเรื่องของ “บัณฑิตศึกษา (Graduate Education)” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าควรเป็น Research Degree คือการทำวิจัยขนานใหญ่และคิดในเรื่องที่ไม่มีคนคิด เพราะมีผลกับการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะต้องตั้งความคาดหวังในการพัฒนาการศึกษาตามบริบทของตนเอง ไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาเหมือนกันหมด มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบจุฬาฯ ส่วนจุฬาฯ ก็ไม่ต้องเป็นแบบ MIT แต่ทุกสถาบันควรกำหนดความคาดหวังและมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ได้ พร้อมทั้งจัดระบบตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างมีคุณภาพจริงๆ โดยสถาบันแต่ละแห่งควรเป็นผู้กำหนดคุณภาพเอง และให้หน่วยงานต่างๆ ภายนอกเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนการประเมินผลภายหลังการดำเนินงาน มิใช่ให้ สมศ. หรือ สกอ.มาเป็นผู้กำหนดและตรวจสอบการดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้
ส่วนการเปิดหลักสูตรครู เห็นว่าไม่ควรนำนักการศึกษามาสอนครู เพราะครูไม่ใช่นักการศึกษา บางคนจบปริญญาเอกด้านประเมินผล แต่ทั้งชีวิตไม่เคยเป็นครูเลย ทำให้มีหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และเห็นด้วยว่าการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่ควรมีการเรียนนอกเวลา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ต้องการให้สถานศึกษาทุกสังกัด สร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ ควรมีทั้งเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ คุณธรรม หรือหมายถึงการเป็นคนดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้สถาบันการศึกษาสร้างคนดีให้บ้านเมืองมากๆ คำว่า “ความดี หรือ Goodness” แปลว่า “คุณธรรมพร้อมกับคุณประโยชน์” การที่คนจะมีประโยชน์ได้ต้องมีวิทยาการมีความรู้ ดั่งเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งได้ไปดูงานเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าได้พัฒนารูปแบบสัดส่วนการเรียนการสอนมาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว โดยมีสัดส่วนเวลาเรียนด้านวิชาการ 60% วัฒนธรรม 10% อารมณ์ 10% การบริการ 10% และพลศึกษา 10% และได้บูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรมในระดับสูง เน้นการวิจัยและมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม มีความเชื่อมโยงงานวิจัยกับนักศึกษาด้วย ที่สำคัญคือให้เรียนฟรี จึงมีผลทำให้อัตราการแข่งขันสูง ไร้ระบบอุปถัมภ์ในการฝากเข้าเรียน มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทั้งด้านสติปัญญาและความมีคุณธรรมในระดับสูง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม โดยนักศึกษาต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมรับใช้ชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สนับสนุนอาหาร การซ่อมแซมบ้านเรือน ดังเช่นอาชีวะอาสาของไทย
ดังนั้น จึงมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบเดียวกับอินเดียในประเทศไทย เพื่อผลิตผู้นำที่ดีให้กับประเทศ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สามารถนำแนวคิดของมหาวิทยาลัยในอินเดียไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมได้
การจัดงานโครงการงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 100 ปี จุฬาฯ : หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต จัดขึ้นในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มีนาคม 2560 และเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในอนาคต ประกอบด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางวิชาการในเรื่องหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา อาทิ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะกรรมการนโยบายวิชาการ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นต้น
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
19/6/2559
update 21/6/2559