เห็นชอบจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 2 เรื่อง คือ รับทราบและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวม 11 ฉบับ และอนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความตกลงในการจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอที่ประเทศไทย

1. เห็นชอบการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้

  • รับทราบ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสำนักงาน ก.พ.ร. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แล้วให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

  • เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แล้วให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

  • เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติรวม 9 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แล้วให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

– ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

– ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

  • รับทราบ แผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

  • รับทราบ แผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ

ทั้งนี้ ให้ส่งความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะนักวิชาการ (ตามหนังสือคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ นร 0404 (ปนช.) /13778 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561) ไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และให้สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งรัดเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

     1. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม โดยควบรวมส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงดังกล่าว

     2. ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 6 ฉบับ ได้แก่

2.1 ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2.2 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2.3 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2.4 ร่างพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2.5 ร่างพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2.6 ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

เป็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ และการบริหารหน่วยงานและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการให้ไม่รวมถึงกิจการที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา และให้ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการและผู้รักษาการตามกฎหมายให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกระทรวงดังกล่าว

     3. ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการอุดมศึกษา  โดยต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่ตนถนัด  สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ พัฒนาบุคคลให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และทักษะที่จำเป็น

     4. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตหน้าที่และอำนาจ และการจัดระเบียบบริหารราชการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     5. ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและการประเมินผลการปฏิบัติให้เป็นไปโดยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

     6. ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์  การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการให้การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ ของประเทศทั้งระบบ โดยให้มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสรรงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ


2. อนุมัติการลงนามจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอที่ประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้

  • อนุมัติ การจัดทำและลงนามบันทึกความตกลงในการจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอที่ประเทศไทย ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงศึกษาธิการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

  • อนุมัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความตกลงในการจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอที่ประเทศไทย

  • มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2

สาระสำคัญของร่างบันทึกความตกลงฯ ใช้เพื่อเป็นหนังสือสัญญาความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศูนย์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาวิจัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติตามบริบทของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวด้วยแล้ว


Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร