แก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษา

ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) จัดพิธีเปิดโครงการรายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสาธารณชน โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในงานที่รัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพ พร้อมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอันดีงามตามประเพณี ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเท่าทันต่อวิทยาการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างยากและสะสมมาเป็นเวลานาน แต่ด้วยความเพียรและมุ่งมั่นตั้งใจของทุกคน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “พวกเราจะร่วมติดตาม ช่วยเหลือ สนับสนุน แก้ไขปัญหา ให้เด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ ได้เข้ารับการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ครบทุกคน โดยเร็ว” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักคิดในการดำเนินงาน ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลนักเรียนของสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ การศึกษาระเบียบกฎหมาย ตลอดจนกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ติดตาม ค้นหาสาเหตุ และจัดหาที่เรียน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบดูแลนักเรียน และติดตามผลเป็นระยะ

จึงเกิดเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งมีผลการดำเนินโครงการแก้ปัญหาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยสามารถนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว่า 27,376 คน คิดเป็นร้อยละ 60.45 ของจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบฯ แบ่งเป็น เด็กปกติ 12,759 คน เด็กออกกลางคัน 7,175 คน จบภาคบังคับ 5,573 คน และเด็กพิการ 1,869 คน พร้อมจะได้กำหนดมาตรการป้องกันดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง เพื่อให้คงอยู่ในระบบการศึกษาและเติบโตเป็นเด็กเยาวชนที่ดีของชาติในอนาคต

ในส่วนของประชากรวัยเรียนอีกร้อยละ 40 ขอให้หน่วยงานทางการศึกษาร่วมกันพิจารณาแนวทางและวิธีการที่จะติดตามนำเข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ครบทั้งหมดทุกคน พร้อมจัดระบบช่วยเหลือให้ได้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีงานทำ ไม่ว่าจะเข้าเรียนในระบบหรือนอกระบบ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา ตลอดจนการอุดมศึกษาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงก็จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สามารถดำเนินการได้ตามคำกล่าวที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: Leave no one behind” และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดรัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเป็นการทำงานในหลักการ “คิดให้ครบ” คือสามารถดูแลประชาชนได้ครบถ้วนในทุกส่วน

ภารกิจครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงขอขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า) ที่ริเริ่มและรวบรวมข้อมูลเชื่อมโยงสู่ระดับจังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และทุกองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมขับเคลื่อนงานแต่ละขั้นตอนจนมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ รวมทั้งประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครองที่สนับสนุนให้บุตรหลานเข้ามาเรียนหนังสือ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต

ดังนั้น การทำงานครั้งนี้จึงสำเร็จไม่ได้ด้วยกระทรวงศึกษาธิการเพียงกระทรวงเดียว แต่เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายในรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่จะเป็นแบบอย่างของการทำงานที่ดีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ด้วยการทำงานของสำนักงาน กศน. ที่มีครู กศน. ทำงานเข้าถึงประชาชนและชุมชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับการศึกษาของทั้งวันนี้และในอนาคตต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนอีกครั้ง ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาการศึกษาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยน้อมนำพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ซึ่งทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ รู้รักสามัคคี 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต โดยหน่วยงานทางการศึกษาได้ร่วมตั้งศูนย์ ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อดูแลตั้งแต่การจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะฝีมือสอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ที่จะทำให้เด็กจบการศึกษาแล้วมีงานทำ มีอาชีพมีรายได้ และ 4) เป็นพลเมืองดี ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ หากจะเปรียบว่าการศึกษาเป็นการปลูกต้นไม้ การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ก็พร้อมจะเป็น “รากแก้ว” ให้กับต้นกล้าทุกต้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะพัฒนาให้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง สร้างความร่มเย็น สวยงาม และเจริญก้าวหน้าให้กับพื้นที่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในวันนี้และวันหน้า

นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก กล่าวให้ข้อเสนอแนะมีใจความตอนหนึ่งว่า

“ขอแสดงความยินดีกับประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริริเริ่มการส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดน ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงสืบสานพระราชปณิธาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ ไทยยังมีกฎหมายและนโยบายการศึกษาที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาให้กับประชากรทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา อาทิ มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับประชากรทุกคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทย, การยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น ที่มีการลงนามรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2550 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น

ในส่วนของความสำเร็จของประเทศไทย ที่เกิดจากความพยายามตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าต่อจากนี้ คือการช่วยให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาได้ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนสนับสนุนช่วยเหลือเด็กอีก 40% ให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในมุมมองของสหประชาชาติในประเด็นด้านการศึกษา ถือว่า “ครู” เป็นปัจจัยที่สำคัญและช่วยผลักดันให้เด็กอยากเรียนจนจบการศึกษา ดังนั้น ความไว้วางใจต่อครูจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษา ซึ่งการดำเนินงานของครูในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เป็นตัวอย่างของประเทศไทย ที่ครูได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ทำให้ครู กศน. สามารถเข้าถึงประชาชนได้ในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน และในส่วนของตัวเด็กเอง อาจต้องศึกษาและหาสาเหตุที่เป็นปัจจัยทำให้ต้องออกจากโรงเรียน อาทิ จากประสบการณ์การพูดคุยกับเด็ก กศน. พบว่า เด็กรู้สึกอายที่ต้องไปเรียน เพราะจะไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน

ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องร่วมหาแนวทางสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ในรูปแบบความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หรือตามรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้กล่าวไว้ ซึ่งไม่ได้ให้การศึกษาเพื่อการทดสอบแต่อย่างใด แต่จะเป็นการช่วยเหลือและให้อนาคตทางการศึกษาแก่พวกเขาในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้ง ยูเนสโกก็จะร่วมกับภูมิภาคอาเซียน ในการจัดการศึกษาให้กับเด็กตกหล่นในภูมิภาคนี้ที่มากถึง 4.1 ล้านคน เช่นกัน

และขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของไทยอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น และควรเผยแพร่ผลความสำเร็จให้ทั่วโลกรับรู้ โดยในฐานะองค์การยูเนสโกจะช่วยประกาศและเผยแพร่โครงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กตกหล่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ตลอดจนหวังว่าจะมีการขยายผลการดำเนินงานไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย”


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต