แก้ปัญหาวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
(24 พ.ย. 2560) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) กล่าวรายงานว่า ศปบ.จชต. หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ตระหนักว่าปัญหาสำคัญในพื้นที่ประการหนึ่ง คือ ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้แก่ เด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน
กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ในท้องที่ ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวร่วมกัน
ทั้งนี้ ได้มีการทำพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการศึกษาครบทุกคน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยยืนยันว่า “ทุกคนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะร่วมมือติดตามช่วยเหลือรวมถึงแก้ปัญหาเด็กๆ วัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ได้เข้ารับการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ครบถ้วนทุกคน” และมีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เพื่อให้เห็นสถานภาพปัจจุบันทางการศึกษาของเด็กทุกคน ในขณะนี้การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว วันนี้จึงมีการจัดพิธีมอบข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละพื้นที่จัดหาที่เรียนให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนในแต่ละคน
นายชลํา อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้รายงานข้อมูลให้ที่ประชุมทราบว่า การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เป็นการให้ความช่วยเหลือประชากรที่อยู่ในวัยเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 3 – 18 ปี) ที่ไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาให้ได้เข้ารับการศึกษาครบทุกคน ซึ่งสภาพปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้แก่ เด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน
เด็กตกหล่น หมายถึง ประชากรวัยเรียนที่ไม่เคยเข้ารับการศึกษา และเด็กออกกลางคัน หมายถึง ประชากรวัยเรียนที่ได้เข้ารับการศึกษาแล้ว ออกจากระบบการศึกษาในขณะที่ยังไม่จบหลักสูตร จึงเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
จากการตรวจสอบประชากรวัยเรียน ที่อยู่ในระบบการศึกษากับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย พบว่าในภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 124,136 คน คิดเป็นร้อยละ 16.99 ของประชากรกลุ่มอายุ 3-18 ปี
ในส่วนของการดำเนินงานแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จัดเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1. จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการนำข้อมูลนักเรียนตรวจสอบกับข้อมูลประชากรกลุ่มอายุ 3 -18 ปี ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อค้นหาผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล จำแนกเป็นรายหมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัด
2. สำรวจ ตรวจสอบข้อมูลในระดับพื้นที่ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในระดับพื้นที่ โดยแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลลงพื้นที่ตามที่อยู่ของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จากฐานข้อมูล โดยจำแนกตามสภาพข้อมูล โดยดำเนินการดังนี้
1) จัดทำแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
2) แต่งตั้งคณะทำงานในการสนับสนุนการดำเนินงานในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล
3) สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดแก่ผู้เกี่ยวข้อง
4) คณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุการไม่เข้าเรียน ตามที่อยู่ของประชากรวัยเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาจากฐานข้อมูล และจำแนกประเภทของกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1) เด็กที่ไปเรียนในสถานศึกษาภายในประเทศ
2) เด็กที่ไปเรียนต่างประเทศ
3) เด็กที่ไม่มีตัวตนในพื้นที่ (ย้ายไปอยู่ที่อื่นเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่สามารถติดตามได้)
4) พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับแล้วไปประกอบอาชีพ
5) เด็กพิการ
6) เด็กปกติที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาด้วยเหตุผลต่างๆ
7) เด็กออกกลางคัน
3. จัดหาที่เรียนให้กับกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยดำเนินการจัดหาที่เรียนให้กับกลุ่มเป้าหมายดังนี้
ผลการรายงานการติดตามประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยการติดตามและลงพื้นที่รณรงค์ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม – 19 พฤศจิกายน 2560 จากระบบติดตามนักเรียนที่อยู่นอกระบบและออกกลางคัน ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 พบว่าทั้ง 5 จังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบแล้ว จำนวน 124,136 คน คิดเป็นร้อยละ 100
นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือฯ สำนักงานยูเนสโก ให้ข้อคิดเห็นว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนขึ้นที่ สปป.ลาว โดยในการประชุมครั้งนั้นมีการลงนามรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งในการยกร่างปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำในการยกร่างปฏิญญาฯ เนื่องจากไทยมีแนวคิดของการดำเนินการส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ หรือสัญชาติของเด็ก เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรีในปี 2548 ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคน
นอกจากนี้ นายอิชิโร มิยาซาวา ยังได้มีโอกาสเดินทางไปที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเข้าพบเลขาธิการอาเซียน และได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องของการประชุมผู้นำทางการศึกษาระดับอาวุโสของอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีหัวข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือ การศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น จึงขอแสดงความยินดีที่ประเทศไทยจะได้เป็นผู้นำในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากโครงการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้เพื่อเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ
ทั้งนี้ นายอิชิโร มิยาซาวา ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้แก่
1. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเด็กที่จะต้องนำกลับเข้าสู่โรงเรียนให้ชัดเจน
2. มีการติดตามประเมินผลในทุกระยะ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ามีคืบหน้าในการทำงาน
3. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องนำกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ ซึ่งเราทราบดีว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ตลอดจนนำสื่อ ICT หรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กตกหล่น เพื่อให้เกิดการประสานงานและความร่วมมือกันในด้านข้อมูลและด้านอื่น ๆ ต่อไป
นายศราวุธ อรรถานุรักษ์ ศึกษาธิการจังหวัดยะลา รายงานว่า จังหวัดยะลาได้มีการประชุมคณะทำงานฯ และดำเนินการลงพื้นที่ตามกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดยะลา จำนวนทั้งสิ้น 23,783 คน ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่ามีกรณีตัวอย่างคือ นักเรียนเข้าเรียนชั้น ป.1 แล้วลาออกในเทอมที่ 2 และไม่ได้เรียนหนังสืออีกเลย จนปัจจุบันอายุ 12 ปี จึงมีการสอบถามถึงสาเหตุที่ไม่เรียนหนังสือต่อ พบว่าสถานภาพทางบ้านไม่สามารถทำให้เรียนต่อได้ เนื่องจากเด็กต้องออกมาช่วยผู้ปกครองเก็บขยะขาย ซึ่งตัวเด็กนั้นอยากเรียนหนังสือต่อแต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้คณะทำงานฯ จะนำกรณีดังกล่าวไปหารือเพื่อช่วยเหลือต่อไป
นายดาลัน นุงอาหลี ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดปัตตานี มีประมาณ 31,600 คน โดยได้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าที่ประชุม กศจ.ปัตตานีแล้ว และ กศจ.ปัตตานี กล่าวชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ นับเป็นเป็นนิมิตหมายใหม่ และเมื่อได้รับข้อมูลทั้งหมดในวันนี้แล้ว จะนำกลับไปปรึกษาหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา กศน. และหน่วยอื่น ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนในปฏิทินที่วางไว้
นายอะเดช มุทะจันทร์ รักษาการศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ได้มีการจับมือกับ กศน.จังหวัดนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ข้อมูลมาอย่างชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนกว่า 40,000 คน ซึ่งปัญหาที่ต้องร่วมกันคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้เด็กกลับมาเข้าเรียนในระบบ เนื่องจากการลงพื้นที่พบว่าเด็กบางกลุ่มที่ออกนอกระบบไปแล้ว ไม่อยากกลับเข้ามาเรียนอีก โดยอาจจะต้องอาศัยคณะอนุกรรมการฝ่ายยุทธศาสตร์ของ กศจ. หรือฝ่ายปกครองในพื้นที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหา และจะนำข้อมูลที่ได้รับในวันนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานระดับจังหวัดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
นางศศิธร ณรงค์ฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา ผู้แทน ศธจ.สงขลา กล่าวว่า จากความร่วมมือของผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดสงขลา และผู้อำนวยการ กศน.อำเภอที่รับผิดชอบทั้ง 4 อำเภอ ทำให้ได้ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ต้องไปดำเนินการต่อประมาณ 4,500 คน โดยจะนำข้อมูลไปประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดสตูล กล่าวว่า จังหวัดสตูลมีปัญหาเรื่องเด็กออกนอกระบบและเด็กที่ไม่มีตัวตนในพื้นที่มานานแล้ว โอกาสนี้จึงเป็นวาระอันดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งตนมีความเห็นว่าสิ่งที่ยากกว่าการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบ คือการทำอย่างไรให้การแก้ปัญหานี้เกิดความยั่งยืน โดยจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กศจ.สตูล และภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป
นายธนกร เกื้อกูล ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา กล่าวว่า งานนี้เป็นงานที่มีคุณค่าที่สุดต่อเยาวชนไทย และเป็นงานที่เห็นการบูรณาการของกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นอย่างดี ในส่วนของ กศน.สงขลา 4 อำเภอ สามารถรับเด็กที่ออกนอกระบบไปแล้วกลับเข้ามาสู่การศึกษาได้เกือบทั้งหมด ซึ่งบางส่วนนั้นสามารถลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษานี้ได้เลย
นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี มีข้อแนะนำที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากไว้เสมอว่า “การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้การศึกษา จึงจะสามารถสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน” ถือเป็นนโยบายในการทำงาน ขณะที่ตนมีข้อคิดอยากฝากผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่าน ได้แก่
1. การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ทั่วถึง ทั้งพี่คนที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ และส่วนองค์กรหลัก
2. การแนะแนวการให้คำปรึกษา ใครก็ตามที่อยู่ใกล้ตัวเด็กต้องเตรียมเนื้อหาแนะแนวไว้ตอบคำถามไม่ใช่เฉพาะผู้เรียนที่อยู่ในระบบ ต้องรวมถึงผู้ปกครองด้วย ซึ่งโรงเรียนของ สพฐ.มีอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลขอให้เป็นหลัก รวมถึงโรงเรียนของ สช.ควรดูแลตรงนี้ให้ได้ ส่วนเรื่องวิชาชีพ กศน.กับอาชีวศึกษาต้องช่วยกัน ซึ่งขณะนี้มีศูนย์อำเภออยู่แล้ว จึงอยากให้ท่านใช้ศูนย์อำเภอเป็นศูนย์แนะแนวในเรื่องนี้
3. พาเด็กไปเรียน ให้เด็กและผู้ปกครองอุ่นใจว่าพาไปเรียนต้องได้เรียนแน่ๆ เด็กไทยทุกคนอยากเรียนต้องได้เรียน
4. การเฝ้าระวัง เราคิดถึงเด็กเก่าที่อยู่ในระบบ แต่เด็กใหม่ที่กำลังจะหลุดระบบก็ยังมีอยู่ ดังนั้นทุกหน่วยต้องร่วมกันเฝ้าระวัง
5. เรื่องของทุนการศึกษา ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและทุนจากส่วนราชการมีจำนวนมาก จึงขอให้สร้างระบบเรื่องทุนการศึกษาของจังหวัดหรือ กศจ.ให้ดี
6. ดูแลเรื่องการหารายได้ระหว่างเรียน
7. การเทียบวุฒิ เห็นได้ว่ามีเด็กของเราไปเรียนต่อในต่างประเทศตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เมื่อเขาอยากกลับมาเรียนในประเทศไทย เราต้องมีหน่วยที่ดูแลเรื่องเทียบวุฒิได้ และต้องเทียบได้ทุกด้าน แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะรับเด็กเหล่านั้นเข้าเรียนต่อในประเทศ
นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เสนอแนะว่า สาเหตุสำคัญของปัญหานี้คือ เด็กไม่อยากเรียนหนังสือ อาจจะต้องกลับมาดูการจัดระบบการศึกษาว่า เราจัดการศึกษาให้เด็กมีความสุขหรือไม่ในการเข้ามาเรียน ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่เข้ามาตอบคำถามว่า เราจะมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษามากขึ้น และอีกช่องทางหนึ่งคือ หากเด็กไม่อยากเรียนอาจจะต้องจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นให้ได้ฝึกอาชีพ ซึ่งขณะนี้วิทยาวิทยาลัยชุมชนได้ทำอยู่โครงการ โดยเน้นอาชีพที่เป็นศักยภาพของพื้นที่ พร้อมทั้งสอดแทรกการเรียนรู้เข้าไประหว่างฝึกอาชีพด้วยเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และขอเสนอให้วางแผนในเชิงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตัวเลขเหล่านี้ลดลงและเด็กได้มีความรู้โดยไม่ต้องเข้าเรียน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันให้ความเห็น ข้อเสนอแนะในวันนี้ พร้อมน้อมรับนำไปปรับปรุงเพื่อให้การทำงานในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งมั่นที่จะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามทำเรื่องใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรม ความก้าวหน้า การศึกษาที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะมีการเชิญหน่วยงานระดับอุดมศึกษาไปทำความเข้าใจกันเรื่องของงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานระดับอุดมศึกษามีส่วนสำคัญมากในการที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องมหาวิทยาลัยที่ต้องรับนักเรียนต่อเนื่องไป และย้อนกลับมาดูแลเหมือนที่เราเรียกว่ามหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง
ขณะที่คำแนะนำทั้งหลายนี้ล้วนมีคุณค่า สามารถชี้ให้เห็นถึงปัจจัยว่าเพราะอะไรถึงเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปัญหาอย่างไร สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ทุกท่านแนะนำมาในวันนี้ เป็นการนำความสร้างสรรค์เข้าไปในพื้นที่ ด้วยความเข้าอกเข้าใจกันไม่ใช่การบังคับ พร้อมย้ำว่าการกระทำด้วยความเต็มใจนั้น ผลจะเกิดขึ้นได้ดีกว่า ตลอดจนฝากผู้ปฏิบัติงานทุกคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ ขอให้นำข้อคิดต่าง ๆ เหล่านี้ไปพัฒนาต่อไป
ในฐานะที่ตนได้รับผิดชอบการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเรียนว่าปีงบประมาณ 2561 เป็นปีของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ดังนั้นหากทุกท่านได้นำเจตนารมณ์ที่ได้ร่วมกันประกาศไปใช้ ก็จะได้ข้อคิดในการทำงานไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะการยึดยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแนวทางหลักของการทำงาน เข้าใจข้อมูล ศึกษาระเบียบที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทาง การดำเนินงาน/เข้าถึง เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงประชาชน ค้นหาข้อเท็จจริงถึงตัวบุคคล /การพัฒนา ต้องดำเนินการต่อไปไม่ว่าจะเป็นการจัดหาที่เรียน กำหนดผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าใครรับผิดชอบอย่างไรตามลำดับของแผนงาน และนี่คือความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดความชัดเจนในการทำงานและจะส่งผลต่อการเป็นแบบอย่างของการในทำงานในพื้นที่อื่น
สุดท้าย พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวถึงสูตรแห่งความสำเร็จโดยยกคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี มาฝากไว้ให้ทุกคนในที่ประชุมว่า “ความสำเร็จต้องเกิดจากความเพียร และความร่วมมือ” ความเพียรนั้นหมายถึงความขยันหมั่นเพียร ความมุ่งมั่น ส่วนความร่วมมือคือการทำงานในลักษณะการบูรณาการ สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น และปัจจุบันต้องรวมถึงประชารัฐด้วย ตามปัจจัยที่กล่าวมานั้นเชื่อมั่นว่าจะนำพาการทำงานไปสู่ความสำเร็จในทุกเรื่อง
24/11/2560