แก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ

ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ




ศึกษาธิการ – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางรัตนา ศรีเหรัญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, พ.อ.สัญชัย บูรณะสัมฤทธิ์ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนนิติกรจากองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม



รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ของการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต สำหรับความเป็นมาของการแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการนั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาการทุจริตเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และกระทรวงศึกษาธิการมีปัญหาการทุจริตมาก่อนหน้านี้ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นประธาน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและดำเนินงานปฏิบัติการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายพิษณุ ตุลสุข เป็นประธาน และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ฯ ในแต่ละหน่วยงาน โดยมีเลขาธิการหรือหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทุจริตภายในหน่วยงาน


ในส่วนของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำมาตรการและแผนปฏิบัติการ พร้อมทั้งติดตามเร่งรัดความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทุจริตมาโดยตลอด โดยเน้นเชิงปริมาณในช่วงแรก จากนั้นจึงเน้นรายละเอียดข้อมูลในเชิงคุณภาพเพื่อเร่งรัดกระบวนการดำเนินงานของแต่ละคดี ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการได้มีการรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นระยะ


ดังนั้น ในวาระของการทำงานครบ 1 ปี จึงเห็นควรให้มีการสรุปผลการดำเนินงาน และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการว่าก่อให้เกิดผลมากน้อยเพียงใด  ซึ่งในเบื้องต้นจะจัดให้มีการแถลงข่าวและจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสรุปความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานแก่สาธารณะซึ่งเน้นความประหยัดเป็นสำคัญ


อนึ่ง รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แต่ละหน่วยงานได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ดังนี้


นายพิษณุ  ตุลสุข ประธานคณะทำงานจัดทำและดำเนินการแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกหน่วยงาน ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ คือ การป้องปราม, การปราบปราม, การพัฒนาระบบการดำเนินการทางคดีและการดำเนินการทางวินัย, การสร้างกลไกในการบริหารงานบุคคล และการติดตามประเมินผล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในภาพรวมเพื่อเสนอผู้บริหารและเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งนี้ การจัดทำเอกสารสรุปผลการดำเนินงานจะแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ส่วน คือ


1) แผนปฏิบัติการฯ ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับหน่วยงาน เพื่อรวบรวมความก้าวหน้าและสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน


2) ระบบการรายงาน ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนของการดำเนินงานคดีทุจริตให้ทุกหน่วยงานทราบและดำเนินการ เพื่อให้มีรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


3) การติดตามคดีสำคัญ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามคดีทุจริตที่สำคัญ มีการลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดติดตามข้อมูลคดีทุจริตที่สำคัญและรายงานให้คณะกรรมการอำนวยการฯ ทราบ


4) ข้อเสนอแนะ พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคล้ายกันในหลายหน่วยงาน คือ ปัญหาเรื่องความไม่พอเพียงของบุคลากรด้านกฎหมาย จึงได้มีการสรุปปัญหาอุปสรรคที่พบพร้อมข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหา



นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการเสนอผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 1 ปี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตของคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยกลุ่มเป้าหมายของการสร้างการรับรู้ คือ ประชาชน สื่อมวลชน ข้าราชการ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอ ดังนี้


1) ข้อมูลที่นำเสนอต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการฯ


2) นำเสนอข้อมูลจำนวนคดีก่อนและหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานภายหลังจากที่มีคณะกรรมการอำนวยการฯ เกิดขึ้น


3) เปรียบเทียบจำนวนคดีทั้งหมดกับจำนวนคดีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวนคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และจำนวนคดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ย้อนหลัง 5 ปี


4) ข้อมูลคดีสำคัญพร้อมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากเป็นคดีที่เกิดขึ้นมานานหลายปีก่อนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ จะทำให้เห็นความคืบหน้าภายหลังจากที่มีคณะกรรมการอำนวยการฯ เกิดขึ้น


5) มาตรการป้องกัน ติดตาม ตรวจสอบ ที่คณะกรรมการอำนวยการ ฯ ได้จัดทำและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต


ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าในอดีตคดีทุจริตต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ขณะนี้ปัญหาการทุจริตถูกขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้กระบวนการดำเนินงานของคดีหลายคดีที่สำคัญถูกเร่งรัด อีกทั้งการมีมาตรการป้องปรามทำให้คดีทุจริตมีโอกาสเกิดน้อยลง


ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตประสบความสำเร็จ คือ ความต่อเนื่องและความมั่นคงของนโยบายและกระบวนการดำเนินงานที่กระชับรวดเร็ว เพราะจะทำให้คดีต่าง ๆ ที่มีความล่าช้าสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นและยุติลง คดีใหม่จะเกิดน้อยลง ทำให้มองเห็นถึงแนวโน้มปัญหาการทุจริตที่จะลดลงและจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตที่เกินจะแก้ไขได้อีกต่อไป



กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี
สรุป / รายงาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่าย : คณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ
19/8/2559