จังหวัดระยอง – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลง เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579: ภาคตะวันออก” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2560 เวลา 09.00 น. โดยมีนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.), ผู้บริหารสถานศึกษา, ครูอาจารย์, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นักวิชาการ ตลอดจนเครือข่ายประชารัฐด้านการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง อำเภอเมืองระยอง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เป็นแผนที่มีความสอดคล้องกับเรื่องที่เป็นจริงในสังคมไทย โดยได้มีการกำหนดแนวทางและนโยบายการดำเนินงานประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ประการ คือ 1) การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ 2) การผลิตและพัฒนากำลังคน งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3) พัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 4) การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี
นอกจากนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ : คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 อีกทั้งเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งมั่นพัฒนาในทุก ๆ กรอบของคุณภาพการศึกษา โดยไม่ได้เน้นแต่ปริมาณ แต่เน้นคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เกิดความสำเร็จที่ยั่งยืน
สำหรับการประชุมแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านที่มาเข้าร่วมประชุมร่วมกันพิจารณาและหารือรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเพื่อเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของตน เพราะการศึกษาของชาติเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนจากทุกภาคส่วนล้วนมีความสำคัญกับการศึกษาทั้งสิ้น อีกทั้งการประชุมครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก โดยเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นลูกหลานเยาวชนเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า เกิดความรู้ความเข้าใจที่แตกฉาน เป็นระบบแบบแผน หากทุกคนมุ่งมั่นเดินตามแผนดังกล่าวก็จะสามารถร่วมกันจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับประเทศได้
ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านร่วมกันขบคิดถึงแนวทางการนำศาสตร์พระราชาที่ยังอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย เพื่อสอดแทรกรายละเอียดและเนื้อหาในแผนการศึกษาชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเสริมสร้างการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำรงชีวิตที่เป็นสุข และสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

นายกมล รอดคล้าย กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นทิศทางการพัฒนาการศึกษา ที่มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs 2030) ขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทย 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ มีกระบวนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการบริหารจัดการที่นำไปสู่การสร้างเด็กยุคใหม่ที่สามารถเป็นผู้นำของสังคมในอนาคตได้
การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการและผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะได้นำแผนดังกล่าวไปชี้แจงในภูมิภาคต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ระยอง มหาสารคาม เชียงราย
การแถลงแผนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งนำประเด็นที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนร่วมกันพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมีจุดเน้นคือ การพัฒนาการศึกษาของคนใน 5 ช่วงวัย ประกอบด้วย 1) ระดับปฐมวัย 2) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา 4) วันแรงงาน และ 5) ระดับผู้สูงอายุ
ดังนั้น แผนการศึกษาชาติฉบับนี้จะมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างน้อย 11 กระทรวง และ 53 หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สภาการศึกษาเชื่อมั่นว่าการหารือกันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดในภาคตะวันออกมีพื้นที่จะต้องสร้างบุคลากรที่มีลักษณะพิเศษ เพื่อที่จะตอบสนองภาคธุรกิจในฐานเศรษฐกิจต่าง ๆ เนื่องจากการหารือในครั้งนี้จะทำให้ทุกท่านได้พิจารณาแนวทางในการสร้างคน เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 โดยต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทุกในทุกระดับ ครูอาจารย์ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะร่วมกันจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับเยาวชนและประชาชน
ในโอกาสที่เดินทางมาจังหวัดระยอง ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและพบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” ณ โรงเรียนระยองวิทยาคม

ม.ล.ปนัดดา กล่าวตอนหนึ่งว่า โรงเรียนระยองวิทยาคมเป็นโรงเรียนอันทรงเกียรติ ซึ่งก่อตั้งมากว่า 100 ปีแล้ว กามาพบปะเยี่ยมเยียนทุกท่านในครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือจากทุกท่านในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม โดยมีจุดเน้นย้ำ 5 ประการ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้โครงการโรงเรียนคุณธรรมเกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ขอฝากให้ลูกหลานนักเรียนทุกคนใช้ Social Media อย่างสร้างสรรค์ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร มีวุฒิภาวะและมีวิจารณญาณ แยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน ยึดมั่นในความดีและความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตลูกหลานอยู่รอดปลอดภัย

“โรงเรียนระยองวิทยาคม เกิดจากการรวมโรงเรียนเก่า 2 โรงเรียนเข้าด้วยกันคือ โรงเรียนระยองมิตรอุปถัมภ์ (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442) และโรงเรียนสตรีระยอง “บุญศิริบำเพ็ญ” (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2463) โรงเรียนระยองวิทยาคมก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2514 เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นสมควรที่จะปรับปรุงการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาให้เหมาะสม สะดวกในการจัดสรรอัตราครูและงบประมาณ เพื่อการบริหารงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศรวมโรงเรียนทั้ง 2 โรงเรียนดังกล่าวเข้าด้วยกัน บนเนื้อที่เดิมของโรงเรียนระยองมิตรอุปถัมภ์ โดยมีนายกนก จันขจร เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ส่วนโรงเรียนสตรีระยองบุญศิริบำเพ็ญ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลระยอง
โรงเรียนระยองวิทยาคมเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปีการศึกษา 2517 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาคัดเลือกให้โรงเรียนระยองวิทยาคม เป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาค (ค.ม.ภ.) รุ่นที่ 1 และเริ่มใช้หลักสูตร ค.ม.ส. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517 เป็นต้นมา

คติพจน์ประจำโรงเรียน
นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา
“แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ……. ไม่มี”
No light is brighter than wisdom
สีประจำโรงเรียน
น้ำเงิน – เหลือง
น้ำเงิน คือ ความกล้าหาญ ความฉลาด ความอดทน
เหลือง คือ ความสุภาพ ความมีมารยาท และคุณธรรม
คำขวัญของโรงเรียน
เรียนเด่น กีฬาดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
7/6/2560