จังหวัดภูเก็ต – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลง เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 : ภาคใต้” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.00 น. โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองเลขาธิการสภาการศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อธิการบดี ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ครูอาจารย์ นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ณ ห้องภูเก็ตแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอความร่วมมือให้นักเรียน ครูอาจารย์และผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง ร่วมกันน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ลูกหลานเยาวชน ครูอาจารย์ ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทั้งการมีความรับผิดชอบ เป็นนักการศึกษาที่มุ่งมั่นขวนขวายหาวิชาความรู้ มีความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน การอบรมบ่มสอนในสถานศึกษาคงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ครูอาจารย์จะช่วยกันดูแลศิษย์เสมือนลูกหลาน และในขณะเดียวกันบุพการีก็ต้องช่วยกันเสริมสร้างแบบอย่างหรือไอดอลที่ใกล้ตัวที่สุดแก่ลูกหลาน

ในส่วนของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 มีหลักการสำคัญในการจัดทำแผน คือ คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 12 ปี และยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทย 4.0 พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การสอดประสานการทำงานภายในองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะต้องแปลงทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้, ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา, ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา
นอกจากนี้ จะต้องบูรณาการกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยขับเคลื่อนแผน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัย ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา และวัยทำงาน รวมทั้งให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง ผู้เรียนทุกกลุ่มได้รับบริการทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่า ตลอดจนสนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ในส่วนของผู้เรียน แผนการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมาย คือ มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3Rs คือ การอ่านออก (Reading), การเขียนได้ (Writing), การคิดเลขเป็น (Arithenmatics) และ 8Cs คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving), ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation), ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-cultural Understanding), ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership), ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy), ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy), ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills), ความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion)

ม.ล.ปนัดดา กล่าวเพิ่มเติมถึงระบบครูโฮมรูม และอาจารย์แนะแนว โดยขอให้ความสำคัญกับ “การหัดย่อใจความ” ซึ่งถือเป็นหัวใจของการฝึกฝนการใช้ภาษาอย่างมีคุณภาพ การศึกษาค้นคว้าโดยใช้เอกสารหรือตำราอ้างอิงอย่างถูกระบบวิธี การทำบรรณานุกรม อันถือเป็นพื้นฐานของการจัดทำเอกสารทางวิชาการหรือภาคนิพนธ์ รวมถึงการนำเสนอรายงานและบอกเล่าประสบการณ์หน้าชั้นเรียนหรือในห้องประชุมโรงเรียนในหัวข้อสาระสำคัญหนึ่ง ๆ ประจำวันหรือประจำสัปดาห์ ยังถือเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับลูกหลานในระบบการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาภาครัฐ เอกชน สายอุดมศึกษา สายอาชีวะ และ กศน. เป็นต้น
การฝึกฝนและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว ต้องร่วมมือกันจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา แผนปฏิบัติราชการ และแผนการปฏิบัติการประจำปีของแต่ละสถานศึกษาและองค์กร ความรู้ความเข้าใจควรครอบคลุมไปถึงการเรียนรู้และการใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องและมีความไพเราะ
โดยเป้าหมายสำคัญ คือ “ประชาชนคนไทยได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข การศึกษาสอนให้บุคคลมีความมุ่งมั่น มีความรอบรู้ เป็นสุภาพชน มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าแก่สังคมในหลากหลายสาขาแห่งความชำนาญการ”
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
1/6/2560