แนวทางดำเนินงาน กศน.

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารในสังกัดสำนักงาน กศน. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

 

  “วิสัยทัศน์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.25602579″

“คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21”

ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมกันนั้น ยังต้องจัดการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรักในสถาบันหลักของชาติ และยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งมีคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย ที่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีวินัย และมีจิตสาธารณะเพิ่มขึ้นด้วย

 

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ล้วนให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ในโอกาสที่ได้พบปะกับผู้บริหาร กศน.ส่วนกลาง และภูมิภาคในระดับจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศในครั้งนี้ จึงขอมอบแนวทางเพื่อให้ร่วมกันขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ดังนี้

● ให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ 6 ภาค

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579, แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ตลอดจนยุทธศาสตร์และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปประเทศ รวมทั้ง Road Map ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในระดับภาค 6 ภาคของรัฐบาล ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.25602564)

ที่สำคัญ กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นกระทรวงลำดับต้น ๆ ของประเทศ ที่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดทำแผนงานโครงการการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ของสำนักงบประมาณ ที่ได้กำหนดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ โดยแบ่งเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน โดยมีทั้ง “จุดเน้นการศึกษากับการพัฒนาภาค” ทั้งมิติบูรณาการ (Agenda) และมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) และ “จุดเน้นการศึกษาที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภาค” คือ มิติพื้นที่ (Area) ซึ่งทั้ง 6 ภาคดังกล่าวจะมีแนวทางพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป

ที่สำคัญ หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งมีการทบทวนแผนงานและโครงการเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน “พื้นที่พิเศษ” จนมีความก้าวหน้าไปทีละส่วนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใน 3 พื้นที่ 5 ภารกิจ กล่าวคือ พื้นที่ชายแดน 27 จังหวัด 107 อำเภอ ที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสถานศึกษาจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ขาดแคลนครู หลายแห่งไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และในพื้นที่นี้ก็จะมีการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซ้อนอยู่อีก 10 จังหวัด ที่จำเป็นต้องจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ รวมถึงสมรรถนะในการทำงานและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ส่วนพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ได้มีคณะทำงานไปทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสังกัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ตลอดจนจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในพื้นที่ดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจ ด้วยการศึกษาทุกระดับแบบสอดคล้องต่อเนื่อง” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ไปสนับสนุนความมั่นคงทางด้านสังคม ได้แก่ เมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” อ.เบตง จ.ยะลา และเมืองต้นแบบ “การค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ” อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จากนั้นจะขยายให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้มิติทางเศรษฐกิจเป็นฐานในการพัฒนาความเจริญสู่ทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำของอาเซียนภายใน 5 ปี

จะเห็นได้ว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไว้ก่อนแล้ว และในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับภาค ในปีงบประมาณ 2561-2562 เพื่อวางแผนจัดการศึกษา เพื่อให้ได้กำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศให้มากที่สุด โดยจะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนแยกรายภาค ทั้ง 6 ภาคในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ระดับภาค สอดคล้องกับระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดใน 3 พื้นที่ 5 ภารกิจดังกล่าว รวมทั้งสอดคล้องกับแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอีกด้วย

● เน้นบทบาท กศน. : “หัวใจ คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

จากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะนำไปสู่การดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน กศน. ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีความเข้าใจ เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับปรุงพัฒนาการศึกษาให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นบทบาทภารกิจหลักของ กศน. โดยเน้นย้ำบทบาทในการทำงาน จะต้องมองไปที่ “หัวใจในการทำงาน คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เช่น ปรับปรุงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experience Learning) ให้มากขึ้น โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสไปศึกษาจากสิ่งแวดล้อม เรื่องราวที่หลากหลายนอกห้องเรียนมากกว่าที่จะเรียนในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว

● ย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเชิงบูรณาการ ที่ต้องเชื่อมกันทั้งส่วนกลาง ระดับภาค และระดับพื้นที่

นอกเหนือจากความเข้าใจในบทบาทที่สำคัญของ กศน.แล้ว พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ย้ำว่า การทำงานเชิงบูรณาการ คือการเชื่อมการทำงานทั้งส่วนกลาง ระดับภาค และระดับพื้นที่ โดยยกตัวอย่าง

– การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ หรือพัฒนาให้ผู้เรียนอ่านคล่องเขียนคล่อง  กศน.ต้องร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจาก สพฐ. มีองค์ความรู้ บุคลากร ที่สามารถมาเชื่อมโยงกับ กศน.ได้
– การฝึกอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ EEC โดย กศน. จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อร่วมกันสร้างอาชีพ รายได้ ส่งเสริมพัฒนาการมีงานทำของประชาชนในพื้นที่
– การจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กตกหล่น  ที่จะต้องร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน เช่น การศึกษาเอกชน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ที่ กศน.จะต้องเคลื่อนงานออกไปเอง อย่าอยู่กับที่
– การเพิ่มจำนวนครูอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ  จากปัจจุบัน 1 คนต่อ 1 สถาบันศึกษาปอเนาะ เป็น 2 คนต่อ 1 สถาบันศึกษาปอเนาะ ก็จะต้องร่วมมือกับชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้แทนกระทรวงหรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เป็นต้น

● ฝากสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ด้วยว่า เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำบ่อยครั้งเพื่อต้องการให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหน่วยงานตนเองไปจนถึงชุมชนสังคม เพราะหากเราสามารถสร้างการรับรู้ได้ ก็จะเกิดความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน อันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันทำงานต่อไป

● ขอให้ร่วมกันน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาเป็นแนวทาง

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ผู้บริหารทุกท่านน้อมนำเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา มีใจความสำคัญคือ “งานด้านการศึกษา เป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512)

นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 กล่าวคือ การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3) มีงานทำ-มีอาชีพ 4) เป็นพลเมืองดี

ฝากการบ้านให้ผู้บริหาร กศน. ทุกคน ช่วยขบคิดและหาคำตอบ

1) ขอทราบข้อคิดเห็นในการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ให้เกิดขึ้นต่อตนเองได้อย่างไร

2) แนวคิดในการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ก้าวหน้า พัฒนาอย่างยั่งยืน กับบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบปัจจุบัน

3) – ปัญหาและอุปสรรคการทำงานตามข้อ 2 มีอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร
        – ข้อเสนอแนะการดำเนินงานของ กศน.

พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวฝากให้ผู้บริหาร กศน. “ริเริ่ม สร้างสรรค์ มุ่งมั่น บุกเบิก บากบั่น อุทิศ ทุ่มเท” เพื่อให้งาน กศน. เกิดคุณภาพทางการศึกษาต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานในปีงบประมาณที่ผ่านมาของสำนักงาน กศน. ด้วยว่า ได้ขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาล กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยมีโครงการสำคัญ คือ การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน จัดอบรมอาชีพให้แก่ประชาชน ส่งเสริมการรู้หนังสือจัดการศึกษาต่อเนื่อง รวมทั้งการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทยและบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทยดำเนินการจัดอบรมให้แก่บุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน. ทั่วประเทศ จำนวน 9,319 คน การขับเคลื่อนกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ที่เป็นหนึ่งในบทบาทของ กศน.ตำบล ร่วมกับ กอ.รมน. ในการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งให้ครู กศน.ตำบล ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน รวมทั้งสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิตทำงานร่วมกันอย่างมีความสามัคคี

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สำนักงาน กศน.ได้กำหนดโครงการสำคัญทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และภารกิจต่อเนื่อง โครงการสำคัญที่ดำเนินการเพื่อร่วมขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ได้แก่ การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของ รัชกาลที่ 10 และการพัฒนาการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพื้นที่พิเศษ

  • ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย การขับเคลื่อน กศน. สู่ “Smart ONIE” ในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพของประชาชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และการพัฒนากาลังคนให้เป็น “Smart Digital Persons (SDPs)” ที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ

  • ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนให้มีคุณภาพ ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ (Smart Aging Society) 2) การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม (Smart Farmer : เกษตรกรปราดเปรื่อง) 3) ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบ “สะเต็มศึกษา” (STEM Education) 4) เพิ่มอัตราการอ่านของประชาชน 5) ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน สู่ “วิสาหกิจชุมชน : ชุมชนพึ่งตนเอง ทำได้ ขายเป็น” 6) จัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางเกษตรธรรมชาติสู่การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ 1) ส่งเสริมการนำระบบคูปองการศึกษามาใช้เพื่อสร้างและขยายโอกาสการเรียนรู้ที่สะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการ 2) สร้างกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ E-learning MOOC ที่ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเรียนรู้ 3) เพิ่มอัตราการรู้หนังสือและยกระดับการรู้หนังสือของประชาชน 4) ยกระดับการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายทหารกองประจำการ 5) พลิกโฉม กศน. ตำบล สู่ “กศน.ตำบล 4 G” (Good Teacher, Good Place Best Check-In, Good Activities, Good Partnership)

  • ยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมและจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดำเนินการส่งเสริมให้มีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสังคมสีเขียว การกำจัดขยะและมลพิษในเขตชุมชน และส่งเสริมให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  • ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ ประกอบด้วย พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ส่งเสริมการใช้ระบบสานักงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-office) ในการบริหารจัดการ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทุกระดับให้มีศักยภาพในการทำงานที่เหมาะสม

สำหรับภารกิจต่อเนื่องที่ต้องดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องในปีงบประมาณนี้ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ 2) ด้านหลักสูตร สื่อ รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล งานบริการทางวิชาการ และการประกันคุณภาพการศึกษา 3) ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 4) ด้านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการอันเกี่ยวเนื่องจากราชวงศ์ 5) ด้านการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่บริเวณชายแดน และ 6) ด้านบุคลากร ระบบการบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการชี้แจงกรอบแนวทางการดำเนินงาน และแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานและสถานศึกษาสู่การปฏิบัติ สำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อให้หน่วยงานสถานศึกษาได้รับทราบและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนต่อไปในการประชุมครั้งนี้ด้วย


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
30/10/2560
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. และกลุ่มสารนิเทศ สอ.สป. : รายงาน