แบบรับฟังความคิดเห็น ร่าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ กระทรวงศึกษาธิการ
แบบรับฟังความคิดเห็น | ||||||
– ร่าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …. | ![]() | |||||
– แบบรับฟังความคิดเห็นร่าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ | ![]() | |||||
ร่าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …. ————————- โดยที่เห็นเป็นการสมควรกำหนดระเบียบ ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การบริหารและการใช้ข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ กระทรวงศึกษาธิการจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .. ” ข้อ ๒. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓. บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ คำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ ๔. ในระเบียบนี้ “ ข้อมูลพื้นฐาน ” หมายความว่า ข้อมูลสถิติทางการศึกษาที่ดำเนินการจัดเก็บเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียน นักเรียน ครู และสถิติอื่นๆ ทางด้านการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ การวางแผนกำลังคน การบริหารงาน และการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา “ ข้อมูลเฉพาะกิจ ” หมายความว่า ข้อมูลที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานจัดเก็บตาม นโยบาย และข้อมูลที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงาน จัดเก็บตามความจำเป็นเร่งด่วน หรือข้อมูลที่จัดเก็บตามสถานการณ์ต่างๆ “ สารสนเทศ ” หมายความว่า ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ข้อมูล ข่าวสาร ที่ผ่านการประมวลผลด้วยวิธีการต่างๆ แล้วถ่ายทอดไว้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงหรือเผยแพร่ “ รหัสมาตรฐานกลาง ” หมายความว่า กลุ่มตัวเลขและตัวอักษรที่ส่วนราชการหรือหน่วยงาน ร่วมกำหนดแทนรายการข้อมูล เพื่อนำไปใช้ร่วมกัน “ ผู้จัดเก็บข้อมูล ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจาก ส่วนราชการหรือหน่วยงานให้รับผิดชอบในการจัดเก็บ รวบรวม ประมวลผล หรือรายงานข้อมูลเกี่ยวกับด้านการศึกษา “ เจ้าหน้าที่ ” หมายถึง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตามระเบียบฯ นี้ “ นักเรียน ” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ระดับ ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ และสายอาชีพ “ นิสิต นักศึกษา ” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา และประเภทการศึกษา นอกโรงเรียน “ ครู ” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการ ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน “ ครู ” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการ ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน “ คณะกรรมการ ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ “ สถานศึกษา ” หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา “ ส่วนราชการหรือหน่วยงาน ” หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน “ บุคลากรทางการศึกษา ” หมายความว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้ง ผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัด กระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ “ คณาจารย์ ” หมายความว่า บุคลากรที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน “ สถานศึกษา ” หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ข้อ ๕. ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้และให้มีอำนาจตีความ วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หมวด ๑ คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ————————- ข้อ ๖. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย (๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน (๒) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสิบคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหรือผู้แทน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงาน คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสามคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ด้านบริหาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอย่างน้อยต้องแต่งตั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน หนึ่งคน (๔) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน ๒ คน ข้อ ๗. ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๖ (๓) อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ ปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่ ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้แต่งตั้งกรรมการแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งก็ได้ ข้อ ๘. การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ข้อ ๙. ให้คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายและแผนด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ (๒) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลนโยบายด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ (๓) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ และเทคโนโลยี (๔) แต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อดำเนินการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ (๕) กำหนดและประกาศแบบรายการข้อมูลพื้นฐาน รายการข้อมูลเฉพาะกิจ รหัสมาตรฐานกลาง และแผนการปฏิบัติการจัดเก็บข้อมูลประจำปี (๖) ออกประกาศ คำสั่ง หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ (๗) กำหนดรหัสมาตรฐานกลางของข้อมูล (๘) จัดทำรายงานภาพรวมความก้าวหน้าหรือผลความสำเร็จด้านข้อมูลสารสนเทศ ให้กระทรวงศึกษาธิการทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ข้อ ๑๐. ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงาน ในทางธุรการของคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ (๒) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับ ข้อมูลสถิติทางการศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ (๓) ศึกษา วิเคราะห์ สภาพทางการศึกษาในภาพรวมของกระทรวง ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการจัดการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย
หมวด ๒ คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด ————————- ข้อ ๑๑.ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งประกอบด้วย (๑) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธาน (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด ประธานโรงเรียนเอกชนประจำจังหวัด ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน ประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสามคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูง ในด้านการบริหารหรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน (๔) ผู้อำนวยการสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ ๑ – ๑๒ และกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ ๑ – ๑๒ และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน ๒ คน ข้อ ๑๒. ให้คณะกรรมบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลตามนโยบายด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ (๒) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ และเทคโนโลยี (๓) แต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อดำเนินการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ระดับจังหวัด (๔) ออกประกาศ คำสั่ง หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ (๕) จัดทำรายงานภาพรวมความก้าวหน้าหรือผลความสำเร็จด้านข้อมูลสารสนเทศเสนอให้ คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ทราบผล อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ข้อ ๑๓. ให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการ ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานรองรับ คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด และมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานในทางธุรการของคณะกรรมการ (๒) ศึกษา วิเคราะห์ สภาวะทางการศึกษาในจังหวัด ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผน การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมจัดทำดัชนีตัวชี้วัดให้สอดรับ ทั้งระยะยาว ระยะกลาง และรายปี (๓) พัฒนาและจัดทำเครื่องมือสำหรับการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษาทั้งระบบ ให้สอดรับ กับดัชนีตัวชี้วัดที่กำหนด (๔) ประสานการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูลทางการศึกษา ให้ครบทุกองค์การที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบการศึกษา ให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน (๕) ดำเนินการประมวลผล และวิเคราะห์ผลข้อมูลทางการศึกษา ตามดัชนีตัวชี้วัด ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และระบบการจัดการศึกษา ในภาพของจังหวัดที่รับผิดชอบ (๖) รายงานและนำเสนอผลสภาพการจัดการศึกษาของจังหวัด ทั้งที่เป็นสภาพปกติ และสภาพวิกฤตทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจุบัน (๗) เป็นศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษาของจังหวัด ที่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และสามารถให้บริการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมวด ๓ การจัดเก็บ และจัดส่งข้อมูล ————————- ข้อ ๑๔. ให้สถานศึกษาจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานประจำปีตามแบบ รายการ และเวลาที่คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด ข้อ ๑๕. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตพื้นที่รวบรวม ประมวลผล ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง และจัดส่งให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการในเขตตรวจราชการ และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๑๖. ให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดรวบรวม ประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวง และจัดส่งให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการในเขตตรวจราชการ และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๑๗. ให้คณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดรวบรวม ประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และจัดส่งให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการในเขตตรวจราชการ และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๑๘. ให้สถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวบรวม ประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน จัดส่งให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการในเขตตรวจราชการ และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๑๙. ให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ ๑ – ๑๒ และกรุงเทพมหานคร รวบรวม ประมวลผลข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา ทุกสังกัดในเขตตรวจราชการ และจัดส่งให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ ๒๐. ให้สำนักตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ ๑ – ๑๒ และกรุงเทพมหานคร ประมวลผลข้อมูลพื้นฐานเสนอต่อคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด ข้อ ๒๑. ให้สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในกรุงเทพมหานครจัดส่งข้อมูลให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๒๒. ให้หน่วยงานต้นสังกัดรวบรวม ประมวลผลข้อมูลของสถานศึกษาในสังกัด และจัดส่งให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ ๒๓. ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประมวลผลข้อมูลพื้นฐานเสนอต่อคณะกรรมการ บริหารข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ ๒๔. ให้สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา สนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลเฉพาะกิจตามแบบ รายการ และเวลาที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานประกาศกำหนด ข้อ ๒๕. ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานรวบรวม ประมวลผล ข้อมูลเฉพาะกิจของสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา จัดส่งให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการในเขตตรวจราชการ และหน่วยงานต้นสังกัด ข้อ ๒๖. ให้สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการรวบรวม ประมวลผลข้อมูลเฉพาะกิจของส่วนราชการหรือหน่วยงานในเขตตรวจราชการ และจัดส่งให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
หมวด ๔ การตรวจสอบและการติดตามประเมินผล ————————- ข้อ ๒๗. ให้สถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลก่อนจัดส่งข้อมูลให้กับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๒๘. ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานทางการศึกษาที่สถานศึกษานั้น ๆ สังกัด และมีสำนักงานอยู่ในจังหวัดนั้น ตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลและติดตามประเมินผลการจัดส่งข้อมูลของสถานศึกษาให้ครบทุกสถานศึกษา ก่อนจัดส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด ข้อ ๒๙. ให้คณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศระดับจังหวัด ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล และติดตามประเมินผลการจัดส่งข้อมูลของหน่วยงานให้ครบทุกหน่วยงานก่อนจัดส่ง ข้อมูลให้กับคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
หมวด ๕ บทลงโทษ ————————- ข้อ ๓๐. การดำเนินการของผู้จัดเก็บข้อมูล เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับการเก็บข้อมูล หรือตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อมูลในขั้นตอนการเก็บในขั้นตอนใด ก็ให้รับผิดชอบเฉพาะในขั้นตอนที่ตนมีหน้าที่นั้นๆ เท่านั้น ข้อ ๓๑. การจัดเก็บข้อมูลและการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ หากบุคคลใดหรือหน่วยงานดำเนินการจนเกิดความล่าช้าหรือเลยกำหนดเวลาจนเป็นที่เสียหายต่อทางราชการอย่างร้ายแรง ให้ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดตามกฎหมายความรับผิดชอบในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และกฎหมายระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง
ให้ไว้ ณ วันที่ .. ……………… พ.ศ. ….
(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |