แผนการศึกษาชายแดน อีสานตอนบน

กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564) ของจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีพื้นที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร เลย หนองคาย และบึงกาฬ โดย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์ วิว อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม


พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด) เป็นผู้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำพัฒนาแผนการศึกษาในพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 27 จังหวัด 106 อำเภอ โดยไม่นับรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้ว


โอกาสนี้ ได้ฝากแนวคิดในการจัดทำแผน ตามที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ย้ำมาโดยตลอด คือ “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงการรับรู้”


คิดให้ครบ: คือ การคิดให้ครอบคลุม และครบทุกด้าน โดยพยายามคิดให้ครบทั้งระบบ ทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ครบถ้วนในมิติทางศาสนา ครอบคลุมการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งคิดให้ครบถ้วนกับกลไกการปฏิบัติตามระบบการบริหารราชการ ทั้งแนวตั้ง คือ สั่งการจากกระทรวงลงมา และแนวราบในระดับจังหวัด คือ การประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายในจังหวัด


ทบทวนเป็นห้วง ๆ: กำหนดเวลาการทบทวนการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ โดยเน้นการประเมินผลการปฏิบัติงาน มองไปที่ Output เพื่อที่จะได้ทราบว่าที่ผ่านมาผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และจะปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการในครั้งต่อไปเกิดความสมบูรณ์ และ Outcome หรือผลลัพธ์ความสำเร็จของโครงการตามแผนงาน ที่จะต้องส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาหรือผู้เรียนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง


ห่วงการรับรู้:  การสร้างการรับรู้และความเข้าใจเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น และเรื่องการศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคลากรทางการศึกษาภายในกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ดังนั้น หากสังคมได้รับรู้และมีความเข้าใจ ก็จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือจัดการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย



พล.อ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า การวางแผนไม่ควรคำนึงถึงประชาชนเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 เท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนเผื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มที่ไม่ใช่ 4.0 ด้วย และขอให้นำผลสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้นทุกวิชา มาปรับใช้ในการวางแผนจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ น้อมนำเรื่องของศาสตร์พระราชา หลักการทรงงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และยุทธศาสตร์พระราชทานที่ให้คนไทย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง นำไปใช้ปรับปรุงแผนจัดการศึกษาและนำไปสู่การปฏิบัติในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยง และเห็นภาพรวมของการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อไป



ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในการจัดการศึกษา จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดแข็งและโอกาสในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดนครพนม มุกดาหาร เลย หนองคาย และบึงกาฬ โดยมี 18 อำเภอที่อยู่ติดบริเวณชายแดน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ จุดแข็ง และโอกาสด้านการศึกษาหลายประการ อาทิ ความสามารถทางภูมิศาสตร์ของครู นักเรียนนักศึกษา การมีเพื่อนหรือเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน การสื่อสารภาษาถิ่นและภาษาเพื่อนบ้าน จุดผ่านแดน ตลอดจนจุดผ่อนปรนและการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศที่เชื่อมต่อกับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ


สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด “นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ชายแดน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและเสมอภาค เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน” โดยการจัดทำแผนจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ข้อ คือ 1) การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง 2) การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 3) การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา


จุดแข็งและโอกาสในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีดังนี้


● นครพนม  มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว ใน 4 อำเภอ (เมืองนครพนม, ธาตุพนม, ท่าอุเทน, บ้านแพง) โดยมีด่านถาวร 2 แห่ง ได้แก่ ด่านนครพนม อำเภอเมืองนครพนม ตรงข้ามเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 อำเภอเมืองนครพนม ตรงข้ามเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และมีจุดผ่อนปรนทางการค้า 4 แห่ง ได้แก่ ด่านบ้านหนาดท่า อำเภอเมืองนครพนม ตรงข้ามเมืองท่าแขก แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านดอนแพง อำเภอบ้านแพง ตรงข้ามเมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ตรงข้ามเมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน ตรงข้ามเมืองหินปูน แขวงคำม่วน


โดยปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดนครพนม-สปป.ลาว รวมทั้งสิ้น 12,397.15 ล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 8,422.75 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 3,974.40 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 4,448.35 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญผ่านด่านของจังหวัดนครพนม คือ หน่วยประมวลผลข้อมูล เครื่องดื่มชูกำลัง ผลไม้สด และวัวโคที่มีชีวิตและแช่แข็ง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ ปูนซีเมนต์ เครื่องรับส่งวิทยุ โทรศัพท์ เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ พลังงานไฟฟ้า ไอโซแท็งค์สำหรับบรรจุก๊าซ


ทั้งนี้ หลังจากที่มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่าย โดยสินค้าจะส่งผ่านจากแขวงคำม่วน สปป.ลาว ไปตลาดเวียดนามเหนือ กรุงฮานอย และตลาดจีนตอนใต้ โดยเฉพาะนครหนานหนิง มณฑลกวางสีของจีน


มุกดาหาร  มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว ใน 3 อำเภอ (เมืองมุกดาหาร, ดอนตาล, หว่านใหม่) โดยมีด่านถาวร 2 แห่ง ได้แก่ ด่านมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร ตรงข้ามเมืองไกรสอนพรมวิหาร แขวงคำม่วน และด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 อำเภอเมืองมุกดาหาร ตรงข้ามด่านสะหวันนะเขต แขวงสะหวันนะเขต


โดยปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดมุกดาหาร-สปป.ลาว จำนวนทั้งสิ้น 62,074.08 ล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 30,010.75 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 32,063.33 ล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้า 2,052.58 ล้านบาท ถือเป็นด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากด่านหนองคาย ส่วนสินค้าส่งออกผ่านด่านในจังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ หน่วยประมวลผลข้อมูล แผ่นวงจรพิมพ์ ตัวเหนี่ยวนำไฟฟ้า อุปกรณ์สำรองไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลง ผลไม้อบแห้ง น้ำ นม เครื่องดื่ม พลาสติก และมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ พลังงานไฟฟ้า ทองแดง ส่วนประกอบของกล้อง เครื่องโทรศัพท์ เสื้อสตรี เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปุ๋ย ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า


ทั้งนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการสัญจรของประชาชนทั้งสองประเทศ และสามารถเชื่อมต่อไปตลาดเวียดนามตอนกลาง คือนครดานัง นครเว้ และเมืองฮอยอัน ด้วยระยะทางเพียง 240 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) จากเดิมเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การรบในสมัยสงครามอินโดจีนและสงครามสหรัฐอเมริกา-เวียดนาม โดยในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าสำคัญเชื่อมโยง 4 ประเทศ คือ เมียนมา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม


เลย  มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว ใน 5 อำเภอ (ด่านชัย, นาแห้ว, ท่าลี่, เชียงคาน, ปากชม) โดยมีด่านถาวร 4 แห่ง ได้แก่ ด่านบ้านปากห้วย อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามเมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุรี, ด่านสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามด่านคอนผึ้ง แขวงไชยะบุรี, ด่านเชียงคาน อำเภอเชียงคาน ตรงข้ามเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์, ด่านบ้านคกไผ่ อำเภอปากกชม ตรงข้ามด่านป้ายวัง เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ และจุดผ่อนปรนทางการค้า 5 แห่ง ได้แก่ ด่านบ้านเหมืองแพร่ อำเภอนาแห้ว ตรงข้ามเมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี, ด่านบ้านนาข่า อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามเมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี, ด่านบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามเมืองแก่นท้าว แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านผือ อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามเมืองแก่นท้าว แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านฮาฮี อำเภอท่าลี่ ตรงข้ามเมืองแก่นท้าว แขวงบอลิคำไซ


โดยปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดเลย-สปป.ลาว จำนวนทั้งสิ้น 5,661.53 ล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 4,350.63 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 1,310.90 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 3,039.72 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกของผ่านด่านในจังหวัดเลย ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ สิน้าอุปโภคบริโภค เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย กระเบื้อง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลูกเดือย เมล็ดงาดิบ แร่แบไรต์ ลูกต้าว มันสำปะหลัง


ทั้งนี้ ด่านชายแดนในจังหวัดเลย เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในการเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกของ สปป.ลาว ด้วยระยะทางเพียง 343 กิโลเมตร


หนองคาย  มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว ใน 3 อำเภอ (เมืองหนองคาย, ศรีเชียงใหม่, โพนพิสัย) โดยมีด่านถาวร 2 แห่ง ได้แก่ ด่านท่านาแล้ง อำเภอเมืองหนองคาย ตรงข้ามด่านบ้านท่าเดื่อ นครหลวงเวียงจันทน์ และด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อำเภอเมืองหนองคาย ตรงข้ามเมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ และมีจุดผ่อนปรนทางการค้า 4 แห่ง ได้แก่ ด่านบ้านเปงจาน อำเภอรัตนาปี ตรงข้ามเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ ตรงข้ามเมืองสีโคดตระบอง ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์, ด่านบ้านหมู่ 1 อำเภอโพนพิสัย ตรงข้ามเมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์, ด่านบ้านม่วง อำเภอสังคม ตรงข้ามเมืองสังทอง แขวงบอลิคำไซ


โดยปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดหนองคาย-สปป.ลาว จำนวนทั้งสิ้น 64,031.91 ล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 56,540.56 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 7,471.38 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 49,089.21 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกผ่านด่านจังหวัดหนองคาย ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เครื่องจักกรและส่วนประกอบ รถขุดดินพร้อมอุปกรณ์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ เหล็ก ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ชุดสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล พื้นรองเท้า พลาสติก หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องดื่มสำเร็จรูป รถเครนเก่าใช้แล้ว เศษกระดาษ ไม้แปรรูป


บึงกาฬ  มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว ใน 3 อำเภอ (เมืองบึงกาฬ, ปากคาด, บุ่งคล้า) โดยมีด่านถาวร 1 แห่ง คือ ด่านบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ ตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ และมีจุดผ่อนปรนทางการค้า 2 แห่ง คือ ด่านบ้านบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า ตรงข้ามเมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ, ด่านบ้านห้วยคาด อำเภอปากคาดก ตรงข้ามเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ


โดยปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดบึงกาฬ-สปป.ลาว จำนวนรวม 2,414.29 ล้านบาท แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 1,965.10 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 449.19 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 1,515.91 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกที่ผ่านด่านจังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำมันเชื้อเพลง ปูนซีเมนต์ น้ำมันก๊าด รถยนต์นั่ง โครงสร้างเหล็กก่อสร้าง ผงชูรส ครีมบำรุงผิว และสินค้าส่งออกของจังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ไม้แปรรูป ไม้สำเร็จรูป ไม้วีเนียร์ ไม้ปาเก้ ขี้เลื่อย มันสำปะหลัง รถยนต์ปิคอัพ ชาผง ชันก้อน


ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬอยู่ระหว่างการผลักดันการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการสัญจรของประชาชนทั้งสองประเทศ




สำหรับพิธีเปิดครั้งนี้ มีผู้บริหารจากส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วมจำนวน 250 คน อาทิ นายธวัชชัย แท้เที่ยง ปลัดจังหวัดนครพนม, นายปริญญา ธรเสนา ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา โดย ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุม


ทั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะรับฟังผลการประชุม และเป็นประธานปิดการประชุม ในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 ระหว่างเวลา 9.00-12.30 น.





นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
2/6/2560