จังหวัดอุบลราชธานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564) ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดประชุมผู้รับผิดชอบเพื่อเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างกลไกในการปฏิบัติงานแต่ละห้วงเวลาทั้งระยะสั้น ระยะยาว และระยะเร่งด่วนในการจัดทำแผนการศึกษาของจังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดน จำนวน 27 จังหวัด 105 อำเภอทั่วประเทศ โดยกำหนดจัดประชุมรวม 6 จุด ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานีและนครพนม และภาคกลางที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา
ทั้งนี้ ได้ขอให้การวางแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564) สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนทุกระดับ ทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 จุดเน้นเชิงนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) รวมทั้งแผนบูรณาการศึกษาในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น โดยขอให้แสวงหาประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนเพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือและผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นชัดเจนในปีแรก จึงต้องวางน้ำหนักในจุดที่ต้องการเน้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะหากก้าวแรกมีความมั่นคงแล้ว จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศ 2 ประเทศ คือ ลาวและกัมพูชา ครอบคลุมใน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพื้นที่ชายแดนประเทศอื่น ๆ ทั้งมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยราชการของประเทศทั้งสองก็ยังคงมีความแน่นแฟ้นเป็นอย่างมากในระดับพื้นที่ ดังนั้น การจัดทำแผนจึงขอให้มองไปที่ “จุดแข็งและโอกาสในพื้นที่” ก่อน ซึ่งจุดแข็งในพื้นที่นี้มีมากมาย เช่น ภาษาที่เราพูดคุยเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกและเข้าใจกันง่าย รวมทั้งเอกลักษณ์ของพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายถึงให้เราละเลยปัญหาหรืออุปสรรคที่มีอยู่ เพียงแต่ค่อยนำปัญหาที่มีอยู่ไปทยอยปรับปรุงแก้ไข

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้ฝากประเด็นสำคัญที่ควรนำไปประกอบจัดทำแผนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด คือ “คิดให้ครบ-ทบทวนเป็นห้วงๆ-ห่วงการรับรู้”
คิดให้ครบ: โดยพิจารณาถึงศักยภาพของระบบการการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ครอบคุลมการจัดการศึกษาเรียนรู้ทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนในพื้นที่ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทุกระดับทุกประเภท ตั้งแต่ปฐมวัย-ผู้สูงวัย ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียม สร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครบถ้วนทั้งประชาชนและทุกหน่วยงานในพื้นที่ ครบถ้วนทั้งเพื่อนร่วมงานภาครัฐและเอกชน
ทบทวนเป็นห้วง ๆ: เมื่อได้จัดทำแผนแล้ว สิ่งสำคัญคือการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดทำแผน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงและมีการทบทวนแผนเป็นห้วง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติตามแผน เพื่อให้สามารถนำแผนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้
ห่วงการรับรู้: เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากที่ได้ขอให้หน่วยงานทุกระดับสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้น ให้บุคลากรภายในหน่วยงานของตนเองได้รับทราบ เข้าใจ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดความร่วมมือร่วมใจกัน รวมไปถึงการสร้างการรับรู้ร่วมกับหน่วยงานภายนอกและประชาชนด้วย เพื่อให้สังคมรับรู้เรื่องต่าง ๆ ในสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ
นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการทรงงาน และหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักในการสอดแทรกไว้ในแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่ามหาศาลต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” กล่าวคือ

ห่วง 1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ห่วง 2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
ห่วง 3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
และ 2 เงื่อนไข คือ
1. เงื่อนไข ความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2. เงื่อนไข คุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้กล่าวให้ข้อคิดเรื่อง “ความมั่นคง” ในการจัดทำแผนการศึกษาด้วยว่า ความมั่นคงตามแนวชายแดนควรมีการป้องกันในเรื่องภัยคุกคามต่าง ๆ ที่สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ ภัยคุกคามจากยาเสพติด ภัยคุกคามแรงงานต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามจากการขาดสมดุลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและโรคระบาด และความยากจน

อนึ่ง ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารทุกสังกัดและผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวน 220 คน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ, รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 13, ศึกษาธิการจังหวัด, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และผู้บริหารใน 5 จังหวัด โดยนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานการจัดประชุมสัมมนา, ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุมสัมมนา

สำหรับการนำเสนอแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดนต่อที่ประชุม และพิธีปิดการประชุมในวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
11/5/2560