แผนการศึกษาพื้นที่ชายแดนตะวันตก

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564) ของจังหวัดชายแดนด้านตะวันตกแถบเทือกเขาตะนาวศรี 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และระนอง เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมหัวหิน แกรนด์ โฮเทล แอนด์ พลาซ่า อำเภอหัวหิน


● กล่าวถึงแนวคิดจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ 27 จังหวัด 105 อำเภอ


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างศักยภาพให้กับคนในทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุ และเพิ่มความสามารถด้านทักษะการแข่งขันให้กับประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการตามนโยบายต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาในสถานศึกษาพื้นที่ชายแดนด้วย


ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนของประเทศไทยมีปัญหาด้านการศึกษาที่แตกต่างกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ทำการรวบรวมปัญหาทั้งหมด ซึ่งพบปัญหาในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านกายภาพ ด้านพื้นที่ การบริหารจัดการ เป็นต้น และเนื่องจากเป็นปัญหาที่มีมานานจึงต้องมีการจัดลำดับด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนาแผนการศึกษาในพื้นที่ชายแดน 27 จังหวัด 105 อำเภอ โดยไม่นับรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้


● เผยแนวทางจัดทำแผนการศึกษาในพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัดด้านตะวันตกแถบเทือกเขาตะนาวศรี


สำหรับจังหวัดด้านตะวันตกแถบเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ชายแดนครอบคลุม 6 จังหวัด 19 อำเภอ ประกอบด้วย กาญจนบุรี 5 อำเภอ, ราชบุรี 2 อำเภอ, เพชรบุรี 2 อำเภอ, ประจวบคีรีขันธ์ 8 อำเภอ, ชุมพร 1 อำเภอ และระนอง 1 อำเภอ โดยได้กำหนดกรอบเวลาแผนการศึกษาในพื้นที่ชายแดนตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2564 ซึ่งเน้นวิธีคิดให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายในปี พ.ศ.2560 โดยยึดหลัก “ทำก้าวแรก” ให้เข้มแข็งมั่นคง เพื่อขยายสู่ “ก้าวต่อไป” ได้อย่างสมบูรณ์ จากนั้นจึงจะขยายผลการดำเนินงานจากอำเภอชายแดนไปยังอำเภอใกล้เคียง จนกระทั่งในท้ายที่สุดก็จะขยายผลไปทั้งจังหวัด



● ศธ.สร้างกลไกการปฏิบัติ 4 ระดับ “อำนวยการ-ส่วนกลาง-ระดับภาค-ระดับจังหวัด”


เมื่อทราบปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ชายแดนแล้ว จึงสร้างกลไกการปฏิบัติตามระบบการบริหารราชการ ซึ่งจะดูแลกันเป็นชั้น ๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ในระดับอำนวยการ, ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ระดับดำเนินงานในส่วนกลาง, ศึกษาธิการภาคดำเนินงานในระดับภาค และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดดำเนินงานในระดับจังหวัด โดยจะเน้นไปที่การดำเนินงานของจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดต้องมีแผนพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาอยู่แล้ว และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของพื้นที่และเวลาด้วย


● ความสัมพันธ์ของการจัดทำแผนและการสนับสนุนงบประมาณ


ทั้งนี้ การสนับสนุนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเราคิดแผนมาดี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน แผนที่กำหนดไว้ก็ไม่อาจเกิดผลสำเร็จได้ ดังนั้น หากแต่ละจังหวัดมีแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์การศึกษาก็สามารถเสนอผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้ส่วนกลางพิจารณาการให้การสนับสนุนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสนับสนุนที่สมบูรณ์ และสอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณ รวมทั้งงบประมาณเหลือจ่ายที่สามารถนำมาดำเนินการตามแผนได้


หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สนย.สป.) ได้จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในพื้นที่ชายแดนในภาพรวมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนได้รับทราบ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้แทนของแต่ละจังหวัดต้องมาร่วมกันพิจารณา และช่วยกันเติมเต็มแผนดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเมื่อนำแผนไปปฏิบัติแล้ว หากมีส่วนใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงก็ให้ดำเนินการในห้วงต่อไป โดยให้ยึดหลัก “ทำไปด้วย คิดไปด้วย” กล่าวคือ ให้ทบทวนไปพร้อมกับการปฏิบัติ และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ก็จะมาทันกัน



● แนวคิด 3 ข้อ ในการจัดทำแผนให้มีความสมบูรณ์


     คิดให้ครบ: คือ การคิดให้ครอบคลุม และครบทุกด้าน โดยพยายามคิดให้ครบทั้งระบบทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ อีกทั้งครบถ้วนในมิติทางศาสนา ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนประสานความร่วมมือภายในหน่วยงานด้านการศึกษาคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อีกทั้งต้องดูแลเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน เด็กปฐมวัย วัยทำงาน ไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


     ทบทวนเป็นห้วง ๆ: กำหนดเวลาการทบทวนการดำเนินงานเป็นระยะ เพราะข้อมูลต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อีกทั้งต้องมีการทบทวนหลังการปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ทราบว่าที่ผ่านมาผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และจะปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการในครั้งต่อไปเกิดความสมบูรณ์


     ห่วงการรับรู้:  การสร้างการรับรู้และความเข้าใจเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ดังนั้น ขอให้ทุกคนพยายามสร้างการรับรู้ให้คนในองค์กร โดยผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมต้องนำสิ่งที่ได้จากการประชุมไปอธิบายและถ่ายทอดให้ผู้ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งการรับรู้ร่วมกันจะทำให้แผนงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


● ฝากนำ “จุดแข็งและโอกาส” ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดในทางปฏิบัติ


พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดนในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจพิเศษ จึงขอให้แต่ละจังหวัดใช้จุดแข็งและโอกาสที่แตกต่างกันในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเน้นย้ำให้เกิดการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลมากที่สุดด้วย อีกทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา หลักการทรงงาน และหลักธรรมาภิบาลไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนการศึกษา เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนต่อไป



● ย้ำความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องช่วยกัน


พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายว่า ในเรื่องของความมั่นคงตามแนวชายแดน ไม่ใช่เรื่องของทหารหรือตำรวจเท่านั้น ภาคการศึกษาต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังแนวคิดเรื่องความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเรื่องกฎหมายบ้านเมืองที่จะต้องปฏิบัติร่วมกัน อีกส่วนหนึ่งคือการแจ้งเตือนหรือการรายงานถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการป้องกันภัยคุกคามต่อประเทศเราได้เป็นอย่างดี



สำหรับในพิธีเปิดครั้งนี้ มีผู้บริหารจากส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วมจำนวน 250 คน อาทิ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, ศึกษาธิการภาค 4-5-6-7, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา  โดย ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุมสัมมนา ส่วนพิธีปิดและรับฟังผลการประชุมในวันถัดไป พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน



อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
19/5/2560