แผนการศึกษา พท.พิเศษ 35 จังหวัด

จังหวัดนครนายก – เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ณ โรงแรมรอยัล ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอเมืองนครนายก, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมการประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งจะจัดขึ้นปลายเดือนกันยายนนี้ ที่จังหวัดชลบุรี

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า จากการที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พิเศษ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตลอดจนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา พล.อ.สุรเชษฐ์ รวมทั้งคณะทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่พัฒนาพิเศษหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย “3 พื้นที่ 5 ภารกิจ” ครอบคลุม 35 จังหวัดของประเทศ กล่าวคือ

  • 3 พื้นที่ คือ
         – พื้นที่ชายแดน 27 จังหวัด
    (จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 27 จังหวัด แต่ไม่รวมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้)
         – พื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
    (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในสงขลา)
         – พื้นที่
    ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง)

  • 5 ภารกิจ คือ
         – การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน
    (27 จังหวัด)
         – การจัดการศึกษาแบบบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
    (3 จังหวัดในพื้นที่ EEC)
         – การจัดการศึกษาตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
    (5 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
         – การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
    (หนองจิก เบตง สุไหงโก-ลก )
         – การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
    (10 จังหวัด)

ภายหลังจากที่ได้มีการวางแผนการจัดการศึกษาตามพื้นที่และภารกิจดังกล่าวทั้ง 35 จังหวัดแล้ว พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ดังกล่าวได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งเป็นการทบทวนการปฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ตามหลัก After Action Review: AAR จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการขับเคลื่อนโครงการประชุมสัมมนา “มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นจะจัดทำแผนการศึกษาในทุกพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด พร้อมนำสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ แล้วจึงนำเสนอภาพการทำงานให้สาธารณชนรับทราบในวงกว้าง

การประชุมในขั้นแรกครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ขับเคลื่อนงานระดับจังหวัดในแต่ละภารกิจ ได้มาทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่พิเศษทั้ง 35 จังหวัด นำไปเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร (กศจ./กศ.กทม.) ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การดำเนินงานขั้นที่ 2 ที่จะมีการประชุมสัมมนาอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อจัดทำแผนให้สมบูรณ์พร้อมนำสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจึงจะนำเสนอภาพการทำงานด้านการจัดการศึกษาพื้นที่พิเศษทั้ง 3 พื้นที่ 5 ภารกิจ ซึ่งเป็นการประชุมขั้นที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2560 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี

พล.อ.สุทัศน์ กล่าวฝากที่ประชุมด้วยว่า เมื่อเราดำเนินการภารกิจต่าง ๆ จนมีความก้าวหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้องให้แต่ละจังหวัดมาทบทวนการทำงานว่าทำอะไรไปบ้าง มีส่วนใดต้องเพิ่มเติมหรือคงไว้ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ตลอดจนระดมความเห็นเพื่อวางแผนการทำงานในระยะต่อไปร่วมกัน ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานแบบ Bottom Up กล่าวคือเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เสนอแผนเพื่อพัฒนาจังหวัดตามความต้องการและบริบทของพื้นที่เอง เพื่อดูแลการศึกษาในทุกมิติให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำถึงแนวคิดการทำงานของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ที่ต้องการให้การจัดทำร่างแผนการศึกษามีความสมบูรณ์มากที่สุด กล่าวคือ “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ สร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง” ซึ่งในเรื่องของการคิดให้ครบ มีความสำคัญมากที่สุด เพื่อให้แผนมีความครอบคลุมทุกมิติด้านการศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าแผนแต่ละจังหวัดจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน บางพื้นที่ต้องเริ่มจากการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ บางแห่งต้องการยกระดับการอ่านออกเขียนได้ก่อน หรือบางแห่งอาจสามารถเดินหน้ารองรับการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ ฯลฯ ในขณะเดียวกันบางจังหวัดได้คาบเกี่ยวกับหลายภารกิจ เช่น จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ทั้ง 3 พื้นที่ ครอบคลุมงานถึง 4 ภารกิจ ทั้งยังขอให้รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มาก ๆ เพื่อให้ได้แผนที่ตรงกับความต้องการ นำสู่การขับเคลื่อนได้จริง ที่จะเกิดผลต่อการพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการทบทวนเป็นห้วง ๆ ควรดำเนินการเสมอ ทั้งทบทวนระหว่างดำเนินงานและหลังการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเมื่อนั้นเราก็จะสามารถสร้างการรับรู้ต่อไปได้ ทั้งการรับรู้ของชาวการศึกษาด้วยกันเอง และสร้างการรับรู้ภาพรวมการดำเนินงานการศึกษาต่อสังคม


อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน ประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารองค์กรหลัก, ศึกษาธิการภาค,  ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาจาก 35 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะ เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุมสัมมนาครั้งนี้อีกด้วย


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
4/9/2560