จังหวัดเชียงใหม่ – กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) ของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาค ปีงบประมาณ 2561-2562 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560–2564) และประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้สามารถตอบสนองต่อมิติของการพัฒนาประเทศ ทั้งมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายภายหลังที่ได้รับฟังผลการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) ของสำนักงานศึกษาธิการภาค 15-18

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการรับฟังผลการนำเสนอแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) ในครั้งนี้ เห็นว่าเป็นแผนที่มีความสมบูรณ์มาก พอมองเห็นถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นผลผลิตทางความคิดของผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ร่วมกันคิดและวางแผน จึงขอให้กำลังใจ ชื่นชม และพร้อมจะสนับสนุนการทำงาน อันจะส่งผลถึง “ความสุข” เมื่องานเกิดความสำเร็จ เพราะเมื่องานการศึกษาสำเร็จก็จะส่งผลไปยังความสุขของคนในชาติ อันเป็นความมุ่งหวังที่รัฐบาลได้ตั้งใจไว้เช่นนั้น
ตลอดระยะเวลา 3 ปีเศษที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ ตนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการวางแผนขับเคลื่อนจัดการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ ซึ่งหมายถึงพื้นที่จังหวัดชายแดน 27 จังหวัด, พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรอบประเทศ 10 พื้นที่, การพัฒนา 3 เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ศธ.ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อทบทวนการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ จ.ชลบุรี โดยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย โดยที่ประชุมครั้งนั้นได้มีข้อสรุปให้มีการขยายผลการทำงานการวางแผนการศึกษาในพื้นที่พิเศษออกไปในระดับ “ทุกภูมิภาค” ของประเทศ ซึ่งต่อมาเป็นความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แบ่งการทำงานในระดับภาคของประเทศออกเป็น “6 ภาค” ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน

ดังนั้น จึงเป็นความสอดคล้องที่ ศธ.ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดการพัฒนาอย่างกว้างขวางรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน โดยแผนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาแต่ละภาค จะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีจุดแข็งและโอกาสที่แตกต่างกัน ต้องดึงมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น แผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเน้นตามเป้าหมายระดับภาคคือ “หลุดพ้นจากความยากจน สู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง” ส่วนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคเหนือ จะเน้นไปที่ “เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง” โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือ คือ ศธภ.15-18 ครอบคลุม 17 จังหวัดในภาคเหนือ

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้วยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานในการให้การสนับสนุนอำนวยการบริหารจัดการผลิตและพัฒนากำลังอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับการทำงานของภาคเอกชนในรูปแบบโครงการสานพลังประชารัฐ และตลาดแรงงานทั้งหมด และจะขยายศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาไปให้ครบทั้ง 6 ภาคเช่นกันด้วย

สำหรับแนวทางการจัดทำแผนการศึกษาระดับภาค ศธ.โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. จะได้หมุนเวียนดำเนินการจัดทำแผนระดับภาค ตามวงรอบที่ 1 จำนวน 6 ภาค ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 โดยเริ่มต้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และภาคเหนือในครั้งนี้เป็นจุดที่สอง
จากนั้นจะมีการประเมินเพื่อปรับปรุงแผน ต่อยอด หรือนำความก้าวหน้าไปพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปในวงรอบที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561



พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวย้ำถึงการทำงานเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานร่วมกัน เพราะหากเราต่างคนต่างทำ จะยิ่งเกิดผลกระทบต่อสังคมและการจัดการศึกษาทั้งระบบ นอกจากนี้ ฝากเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ของผู้บริหารทุกหน่วยงาน รวมทั้งได้ย้ำถึงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้นำหน่วยงาน ต้องพยายามกระจายงานที่รับทราบให้ทุกคนภายในหน่วยงานได้รับทราบร่วมกันก่อนด้วย จากนั้นจึงขยายผลการสร้างการรับรู้ความเข้าใจไปยังหน่วยงานภายนอก ตลอดจนประชาชน และสังคมในวงกว้างต่อไป

อิชยา กัปปา, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, ธเนศ งานสถิร: ถ่ายภาพ
16/11/2560