แผนบูรณาการภาคตะวันออก

จังหวัดนครนายก – กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออก) ของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2560 เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาคตะวันออก ปีงบประมาณ 2561-2562 โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมและให้นโยบาย เผยความต่อเนื่องการทำงานปีที่ผ่านมาจะนำไปสู่การวางแผนระดับภาคอย่างเข้มแข็งในปี 2561 พร้อมเน้นย้ำให้มีการประเมินการทำงานด้วยความประสานสอดคล้องกัน รวมทั้งนำปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการของนายกรัฐมนตรีมาปรับใช้ คือ ความเพียร+ความร่วมมือ+ประชารัฐ เพื่อร่วมพัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน

วันนี้ (14 ธันวาคม 2560) ณ ภูเขางาม รีสอร์ท อำเภอเมืองนครนายก – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออก) ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคตะวันออก, ผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค 3 และภาค 9, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารหน่วยงานและสถานศึกษา ข้าราชการในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 200 คน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลางเข้าร่วม อาทิ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ฯลฯ

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางนโยบายในพิธีเปิด ดังนี้

ความต่อเนื่องการทำงานจากปีที่ผ่านมา ที่จะนำไปสู่การวางแผนอย่างเข้มแข็งในปี 2561

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ปี 2561 จะเป็นปีที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในการวางแผนจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งภาคตะวันออก เนื่องจากในช่วงปี 2559-2560 ที่ผ่านมา ได้มีการเริ่มต้นการประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่จังหวัดสระแก้ว เมื่อเดือนกันยายน 2559 และที่จังหวัดตราด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รวมทั้งการจัดงาน “200 นักวิจัย 200 โจทย์พัฒนาเศรษฐกิจ” จัดโดยวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อเดือนมกราคม 2560 ที่ได้มีการระดมนักวิจัย อาจารย์ และนิสิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อทำวิจัยร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

นอกจากนี้ ได้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่จังหวัดชลบุรี และที่สำคัญคือ “การประชุมสัมมนามิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่จังหวัดชลบุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในการประชุมครั้งนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่า จากการทำงานที่มีความต่อเนื่องมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการพัฒนา วางแผนการทำงาน ทบทวนการปฏิบัติงานเป็นห้วง ๆ มาโดยตลอด เพื่อให้พื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ภาคของประเทศ ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทราด้รับการพัฒนาไปสู่การเป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน” โดยมีพื้นที่ EEC เป็นแกน เพื่อให้ภาคต่าง ๆ รวมเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ได้ฝากข้อคิดไว้ในการจัดทำแผนคือ นอกจากมีการทบทวนแผนปี 2560 แล้ว ควรมีการติดตามสถานการณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาวางแผนการทำงานในปี 2561-2562 อีกด้วย

ฝากหลักคิดการวางแผนนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ฝากหลักคิดการทำงานด้วยว่า “การวางแผน” เปรียบเสมือนการเริ่มต้นการทำงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการทำงานให้บรรลุผล

นอกจากนี้ ควรน้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ใส่เกล้าฯ และนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะหลักการทรงงาน 23 ข้อ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีพระราชประสงค์ให้การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี

ดังนั้น จึงฝากหลักคิดการวางแผนด้วยว่า ขอให้คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วง (ใย) การรับรู้ สู่บูรณาการทำงาน สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เน้นย้ำการทำงานให้ประเมินการทำงาน และประสานสอดคล้องกัน

นอกจากนี้ จากการประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงราย ถือเป็นครั้งแรกที่ได้พบปะหารือกับผู้บริหารและข้าราชการจากสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจในการเริ่มต้นวางแผนการทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับภาค ปีงบประมาณ 2561-2562 เพื่อให้ได้กำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศให้มากที่สุด

ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการทำงาน ที่จำเป็นต้องมี “การประเมิน” แต่ไม่ใช่ประเมินเพื่อดูว่าใครเก่งกว่าใคร ใครเหนือกว่าใคร หรือทำให้ใครขาดกำลังใจ แต่หลักการประเมินเพื่อต้องการดูว่ามีส่วนใดที่ต้องทบทวน ปรับปรุงตนเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพในส่วนที่ดี หรือบางส่วนอาจจะต้องลดลง หรือคงรักษาไว้ และการทำงานจะต้องให้ “ประสานสอดคล้องกัน” แม้จะเป็นปีงบประมาณ 2562 แต่การวางแผนล่วงหน้าถือเป็นความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อเตรียมการจัดการศึกษาในระดับภาคให้มีความสอดคล้องรองรับกัน เพราะ ศธ. จำเป็นต้องเคลื่อนตัวให้เร็ว เนื่องจากการศึกษาเป็นต้นน้ำในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ

ศธ.ให้ความสำคัญกับการวางแผนผลิตพัฒนากำลังคนในทุกพื้นที่

จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการวางแผนผลิตพัฒนากำลังคน  ศธ.ได้เริ่มต้นให้มีการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC TVET Career Center) ถือเป็นต้นแบบที่จะขยายให้ศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก รวมทั้งขยายให้ครบ 6 ภาคของประเทศตามความพร้อมต่อไป

นอกเหนือจากศูนย์ประสานงานฯ ดังกล่าวแล้ว ศธ.ยังได้วางแผนจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาบุคลากร กระทรวงศึกษาธิการ” โดยเริ่มต้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเดือนมกราคม 2561 และจะขยายผลศูนย์พัฒนาบุคลากรดังกล่าวไปยังภาคอื่น ๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงการตั้งศูนย์ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยว่า ไม่ได้เป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ แต่ใช้วิธีการนำอาคารเก่า ๆ มาปรับปรุงให้มีความทันสมัยและรองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เผยปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการของนายกฯ คือ ความเพียร + ความร่วมมือ+ ประชารัฐ”

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จของนายกรัฐมนตรี ที่มักกล่าวย้ำเสมอในหลายโอกาสด้วยว่า “การเป็นข้าราชการต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นทั้งภายในหน่วยงานและกับประชาชน” เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชนได้

บทบาทของ ศธ. ซึ่งมีความสำคัญอย่างที่สุดในการพัฒนาคน ซึ่งเป็นต้นน้ำ หากเราพัฒนาคนให้เป็นไปตามความมุ่งหวังและตั้งใจแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ซึ่งความสำเร็จประกอบด้วยความเพียร ความร่วมมือ และประชารัฐ หรือ ความสำเร็จ = ความเพียร + ความร่วมมือ + ประชารัฐ

เมื่อกล่าวถึงความเพียร แท้จริงแล้วคือหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้กับคนไทยมาโดยตลอด ส่วนความร่วมมือนั้น ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะความร่วมมือจะทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดการรับรู้ ถือเป็นหลักการทำงานแบบบูรณาการที่ทำให้เกิดพลังมากกว่าการทำงานเพียงลำพังหรือหน่วยงานเดียว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นของภาครัฐ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชน และวิชาการ จึงถือเป็นกลไกประชารัฐ ที่ก่อให้ประชาชนเกิดความสุขและความพึงพอใจ

นายธวัชชัย อุ่ยพานิช รองศึกษาธิการภาค 9 กล่าวรายงานถึงแนวทางการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออก) ว่ารัฐบาลมีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการผลิตและการบริการในแต่ละพื้นที่ภาคให้สูงขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพฯ ดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดกลไกคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น 6 ภาค ให้สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ระดับภาคของรัฐบาล ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน โดยทำหน้าที่ทั้งในส่วนของการจัดทำแผนฯ การขับเคลื่อน การกำกับ ติดตาม และรายงานผล การดำเนินงานตามแผนบูรณาการด้านการศึกษาในแต่ละภาค

ในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญทั้งในเรื่องของขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอ่าวไทย คุณภาพการผลิตอาหาร และมาตรฐานธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการจะได้มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณากำหนดเป็นจุดแข็งและโอกาสสำหรับการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาคตะวันออก

เพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ของแผน คือ ทรัพยากรบุคคลที่สามารถตอบสนองเป้าหมายของภูมิภาค คือ การพัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนต่อไป


อิชยา กัปปา, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน, ธเนศ งานสถิร: ถ่ายภาพ
14/12/2560