พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโครงการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) พร้อมมอบแนวทางในการวางแผนยุทธศาสตร์และการบูรณาการตามแผนให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อย่ายึดติดกับปัญหา มองสังคมให้ได้ในทุกมิติ พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง โดยใช้ความเพียรบวกกับความร่วมมือกันผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ประสบผลสำเร็จ

จังหวัดภูเก็ต – วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560) เวลา 09.00 น. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมมอบแนวทางการดำเนินงานแผนบูรณาการด้านการศึกษาแก่ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ผู้บริหารระดับสูง และผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ในครั้งนี้
จังหวัดภูเก็ต มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่มีประชากรรวมกว่า 1 ล้านคน เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวที่งดงามโดดเด่น ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ขณะเดียวกันภูเก็ตยังเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่แข็งแกร่ง เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคตสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูง

นายประหยัด อนุศิลป์ รองศึกษาธิการภาค 6 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 6 กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการผลิตและการบริการในแต่ละภาคให้สูงขึ้นนั้น
กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักในการผลิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพดังกล่าว จึงได้กำหนดกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น ให้สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ระดับภาคของรัฐบาล
ในส่วนของภาคใต้ มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการเป็นฐานการผลิตยาง ปาล์มน้ำมัน และพืชผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จะได้มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณากำหนดจุดแข็งและโอกาสสำหรับการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาคใต้ เพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ของแผนดังกล่าว คือ ทรัพยากรบุคคลสามารถตอบสนองเป้าหมายระดับภาคของภูมิภาค และการพัฒนาภาคใต้ให้เป็นรากฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการศึกษา ได้มาระดมกำลังเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ให้ทุกจังหวัดของประเทศไทยเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อให้การศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับทุกภูมิภาค ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายเกี่ยวกับภาค โดยแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 6 ภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นที่สำคัญในการพัฒนา เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งความขัดแย้ง เรื่องของภาษา สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่จะต้องทำให้สำเร็จ และแนวทางดำเนินการที่สำคัญมากอีกเรื่องในพื้นที่นี้ คือ การนำเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น
จึงขอให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา และบูรณาการขับเคลื่อนการศึกษา ต้องดูแลให้ทั่วถึง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องเติบโตไปพร้อมกัน การปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การวางแผนยุทธศาสตร์และการบูรณาการจึงต้องให้คิดให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพราะทุกภาคส่วนล้วนมีความเกี่ยวโยงด้านการศึกษาทั้งสิ้น อย่ายึดติดกับปัญหา เพราะการทำงานต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ค่อยคิด ค่อยแก้ไข มองสังคมให้ได้ในทุกมิติ เอามาเชื่อมโยงและบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ การประเมินผลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ถือเป็นนโยบายเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญ ควรมีการประเมินเพื่อทบทวนว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้รับผลสะท้อนกลับมาอย่างไร สิ่งไหนที่ไม่ดี ก็ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนสิ่งไหนที่ดีอยู่แล้ว ก็ต้องมีแนวทางดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก โดยให้การประเมินเป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เราสามารถมองเห็นข้อดีและข้อด้อย เพื่อนำไปปรับและแก้ไขปัญหาต่อไป
จึงขอให้ทุกคนที่มีส่วนในการร่วมบูรณาการด้านการศึกษา ได้ตระหนักในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดการบูรณาการและสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้อย่างเต็มกำลัง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ได้รับรู้และเข้าใจถึงความมุ่งหวังที่เราทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งขอให้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติและบูรณาการด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง ใช้ความเพียรและความร่วมมือกันผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ประสบผลสำเร็จ

อนึ่ง ภายหลังพิธีเปิด ดร.มงคลชัย สมอุดร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคใต้ ศูนย์ย่อยที่ 4 (ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง) เพื่อรับฟังการดำเนินงานในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวและมอบแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคใต้ ศูนย์ย่อยที่ 4 วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต


จงจิตร ฟองละแอ: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า, ธเนศ งามสถิร: ถ่ายภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.: รายงาน
23/11/2560