กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด จัดเวิร์คช็อปการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาภาคกลาง เพื่อให้การจัดการศึกษานำไปสู่เป้าหมายพัฒนากรุงเทพฯ สู่มหานครทันสมัย และภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา – พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคกลาง) ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ โดยนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองศึกษาธิการภาค 1, พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร คณะทำงาน รมช.ศธ,, ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของกลุ่มจังหวัดในภาคกลาง 17 จังหวัด, ผู้แทนส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารสถานศึกษาในภาคกลาง, สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-5 และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม
พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการชี้แจงการทำงาน ซึ่งมีการจัดทำแผนที่มีขั้นตอนอย่างต่อเนื่องหลายระดับ เชื่อมโยงกับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ระดับภาคของรัฐบาล ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญหน่วยงานทุกภาคส่วนมาเข้าร่วมระดมความคิดจัดทำแผนฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ตัวชี้วัด ของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างสมดุล ตอบโจทย์ในมิติการลดความเหลื่อมล้ำ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ระดับภาค ของประเทศ และเชื่อมโยงกับแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2560-2579 ซึ่งแผนดังกล่าวได้นำเสนอสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังสามารถปรับปรุง แก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานและบริหารงบประมาณรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับทิศทางการพัฒนาภาคกลาง และพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ สู่มหานครทันสมัย และภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์การพัฒนา คือ
1) พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครทันสมัยระดับโลก ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง
2) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และสร้างความเชื่อมโยง เพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค
3) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
4) บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
5) เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
6) พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาค เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพ และลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เพื่อกำหนดการทำงานอย่างชัดเจนว่าแต่ละภาคจะพัฒนาด้านใด โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 5 ข้อ คือ จัดระเบียบกลไกภาค, จัดทำแผนระดับภาค, เตรียมตั้งศูนย์อาชีวะระดับภาค, เตรียมจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรระดับภาค และเตรียมประเมินคุณภาพการศึกษาครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ ได้ฝากแนวทางการดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการวางแผนที่ดี ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการขับเคลื่อนแผน ที่จะส่งผลต่อความสำเร็จที่มุ่งหวัง โดยต้องคิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงใยเรื่องการรับรู้ มุ่งสู่การบูรณาการ พร้อมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชา และพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 มาเป็นปัจจัยใช้ในการคิดวางแผน ที่สำคัญต้องมีการสร้างการรับรู้ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนฯได้รับความร่วมมือและเกิดความสำเร็จในการดำเนินงานต่อไป

นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองศึกษาธิการภาค 1 กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการผลิตและการบริการในแต่ละพื้นที่ภาคให้สูงขึ้นนั้น
กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักในการผลิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดกลไกคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น 6 ภาค โดยทำหน้าที่ทั้งในส่วนของการจัดทำแผนฯ การขับเคลื่อน การกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานตามแผนบูรณาการด้านการศึกษาในแต่ละภาค
สำหรับภาคกลาง ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญทั้งในเรื่องของการยกระดับการผลิตสินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมและการพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการฯ จะได้มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณากำหนดเป็นจุดแข็งและโอกาสสำหรับการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาคกลางเพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ของแผนฯ ได้แก่ ทรัพยากรบุคคลที่สามารถตอบสนองเป้าหมายระดับภูมิภาค คือการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางให้เป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง

อนึ่ง ในการจัดประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, อิชยา กัปปา: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง/กราฟิก
อิทธิพล รุ่งก่อน, กิตติกร แซ่หมู่: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. และกลุ่มสารนิเทศ สป.: รายงาน
21/12/2560